Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทำดีแล้ว ต้องรายงาน


ใกล้สิ้นปีแล้ว บริษัทจดทะเบียนที่มีการขับเคลื่อนงาน CSR โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีภารกิจหนึ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การจัดทำรายงาน CSR ในรูปแบบที่ถูกเลือกตามความเหมาะสมขององค์กร นับตั้งแต่ การเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) หรือในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานแยกเล่มจากรายงานประจำปี ที่นิยมเรียกกันว่า รายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report

ในทศวรรษที่ผ่านมา พัฒนาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการได้เดินอยู่ในกระแสของการผนวก CSR เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้เรื่องของ CSR เป็นวาระที่ทุกส่วนงานในองค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง รูปแบบของการขับเคลื่อน CSR จึงปรับเปลี่ยนจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ที่จำกัดเฉพาะส่วนงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะกิจกรรม (Event) ที่แยกต่างหากจากการดำเนินงานทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ไปสู่การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ (Process) และทั่วทั้งองค์กร

เมื่อพัฒนาการของ CSR เดินอยู่ในกระแสนี้ บทบาทของการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินงานด้าน CSR จึงอยู่ในวิสัยที่กิจการทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากองค์กรสามารถบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ จากการที่กิจการเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ

ขณะที่รูปแบบของการรายงานด้าน CSR ในสมัยก่อน ซึ่งมักเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ที่กิจการมอบหมายมูลนิธิหรือองค์กรเอกชนหรือผู้รับจ้างไปดำเนินงานให้ในบางส่วนหรือทั้งหมด องค์กรไม่สามารถที่จะบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานได้เช่นเดียวกับที่ตนเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ เอง ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ รายงานที่เกี่ยวกับ CSR จึงยังไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงของการให้คุณค่าแก่ผู้ใช้รายงานมากนัก

จนเมื่องาน CSR ได้ถูกให้ความสำคัญในแง่ที่จะต้องบูรณาการให้เกิดขึ้นในกระบวนการและทั่วทั้งองค์กร บทบาทและคุณค่าของการรายงานจึงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีความพยายามที่จะพัฒนากรอบการรายงานที่เป็นสากล การกำหนดเนื้อหาของรายงานที่ได้มาตรฐาน และการใช้ชุดตัวบ่งชี้การดำเนินงานสำหรับการรายงานที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยแนวทางหรือกรอบการดำเนินงานด้าน CSR ที่จะชี้นำกิจการให้สามารถบรรลุซึ่งเป้าหมายขององค์กร ในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมเห็นชัดและวัดได้

การรายงานด้าน CSR ในปัจจุบัน จึงมักถูกเรียกในชื่อว่า รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่งองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ได้เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากรอบการรายงานในลักษณะดังกล่าว และได้รับการยอมรับจากองค์กรทั้งที่เป็นภาคธุรกิจ และมิใช่ธุรกิจนำไปใช้ในการจัดทำรายงานของตนเองรวมจำนวนแล้วเกือบ 9 พันแห่ง มีรายงานเผยแพร่แล้วกว่า 3 หมื่นฉบับ (Sustainability Disclosure Database, 2018)

GRI ก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2540 ได้พัฒนาแนวทางการรายงานแห่งความยั่งยืนมาแล้ว 4 รุ่น นับจากฉบับ G1 (พ.ศ.2543) ฉบับ G2 (พ.ศ.2545) ฉบับ G3 (พ.ศ.2549) ฉบับ G3.1 (พ.ศ.2554) และฉบับ G4 (พ.ศ.2556) จนกระทั่งยกระดับจากแนวทาง (Guidelines) มาเป็นมาตรฐาน (Standards) การรายงานแห่งความยั่งยืน ในปี พ.ศ.2559 โดยมีหลักการสำคัญ คือ การใช้กระบวนการรายงาน (Reporting Process) ในการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงาน มิใช่การให้คำแนะนำการจัดทำรายงาน หรือแนวทางในการเรียบเรียงเนื้อหารายงานเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report)

ในหลายประเทศ ได้ผลักดันบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ ให้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ทั้งการออกเป็นข้อกำหนด และให้เป็นไปโดยสมัครใจ โดยจากผลสำรวจของ KPMG ในเรื่องการรายงานความรับผิดชอบของกิจการ ในปี พ.ศ.2560 ระบุว่า ร้อยละ 75 ของบริษัทที่มีขนาดใหญ่สุดในแง่ของรายได้ 250 แห่งของโลก มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน โดยใช้แนวทางการรายงานแห่งความยั่งยืนของ GRI


ในประเทศไทย จากฐานข้อมูล Sustainability Disclosure Database ของ GRI พบว่า มี 126 องค์กรในประเทศไทย ได้จัดทำรายงานที่อ้างอิง GRI จากจำนวนองค์กรในฐานข้อมูลทั้งหมด 8,929 แห่งที่ได้จัดทำรายงานอ้างอิง GRI หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.41%


เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุด โดยอินโดนีเซียมี 113 แห่ง รองลงมาคือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย จำนวน 77 แห่งเท่ากัน ตามมาด้วย เวียดนาม 40 แห่ง ฟิลิปปินส์ 39 แห่ง และกัมพูชา 3 แห่ง ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค.2561)

การรายงานในรูปแบบดังกล่าว มีแนวโน้มที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับสากล ในระดับภูมิภาค และในประเทศไทย บริษัทจดทะเบียนที่ยังมิได้มีการจัดทำรายงานแนวนี้ อาจเริ่มดำเนินการศึกษาและยกระดับการรายงานจากที่รายงานในแบบตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล มาสู่การรายงานในแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล


[Original Link]