Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทำ CSR เมื่อไรดี


หากพิจารณาในระดับบุคคล โดยใช้เรื่องเงื่อนเวลาดำเนินการเป็นเกณฑ์ พบว่า CSR สามารถแบ่งออกเป็นสองจำพวกใหญ่ คือ CSR ในเวลางาน กับ CSR นอกเวลางาน

องค์กรควรจะปลูกฝังให้พนักงานทำ CSR ในเวลางาน คือ การทำหน้าที่ในตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมายอย่างรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการตัดสินใจ หรือการกระทำของตน รวมทั้งที่มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน อาทิ พนักงานขายให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเที่ยงตรง พนักงานบัญชีดูแลจัดทำบัญชีอย่างถูกต้องโปร่งใส พนักงานจัดซื้อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใสเป็นธรรม เป็นต้น

ส่วน CSR นอกเวลางาน มักจะเป็นงานอาสาช่วยเหลือสังคม ที่มิได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่โดยตรง ซึ่งหลายองค์กร ใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมู่พนักงานด้วยกันเอง หรือใช้สานสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจกรรมปลูกป่า สร้างฝาย ทำความสะอาดสาธารณสถาน รวมถึงงานบุญ กฐิน ผ้าป่า เป็นต้น

หากพิจารณาในระดับองค์กร โดยใช้เรื่องเงื่อนเวลาดำเนินการเป็นเกณฑ์ พบว่า CSR สามารถแบ่งออกเป็นสองรูปแบบใหญ่ คือ Responsive CSR กับ Strategic CSR

Responsive CSR เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตอบสนองต่อประเด็นปัญหาหรือข้อร้องเรียน เพื่อให้สังคมเห็นว่าองค์กรของตนเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบ หรือได้ปฏิบัติตัวในฐานะขององค์กรพลเมืองที่ดี (Good Corporate Citizen) ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการทำ CSR ในเชิงรับ

หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เป็น CSR ในลักษณะ “ทำก็ต่อเมื่อเกิดเรื่อง” คือ เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อร้องเรียนขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ แล้วจึงค่อยเข้าไปดำเนินการเยียวยา ฟื้นฟูหรือแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียน เพื่อยุติหรือบรรเทาผลกระทบที่อาจติดตามมา ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับคำติมากกว่าคำชม หรือทำแล้วมีโอกาสเสียมากกว่าได้

วิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบแรกนี้ องค์กรธุรกิจมักจะศึกษาข้อกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐานหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาปฏิบัติเพื่อปรับให้เข้ากับมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และยังคงมุ่งรักษาคุณค่าขององค์กรไม่ให้ได้รับความเสียหาย

ผลได้จากการทำ Responsive CSR องค์กรมักจะอ้างถึงคำว่า ทำให้ได้มาซึ่ง “License to Operate

ส่วน Strategic CSR เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงรุก ในลักษณะ “ทำโดยไม่รอให้เกิดเรื่อง” ด้วยการริเริ่มโดยองค์กรเอง และมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความต้องการหรือความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียหรือของสังคมโดยรวม

วิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบหลังนี้ กิจการไม่เพียงแต่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ แต่ยังมีการกำหนดจุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากแนวปฏิบัติขององค์กรอื่นๆ มีการสร้างความแตกต่างในวิธีการ และมีอิสรภาพในการคัดเลือกประเด็นทางสังคมที่องค์กรเป็นผู้ประเมินเอง มากกว่าที่จะต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องจากภายนอกสถานเดียว

ผลได้จากการทำ Strategic CSR ผู้ที่เป็นต้นบัญญัติของเรื่องนี้ ซึ่งก็คือ ศ.ไมเคิล อี. พอเตอร์ ใช้คำว่า ทำให้ได้มาซึ่ง “License to Grow

ปัจจุบัน รูปแบบของ Strategic CSR ได้พัฒนายกระดับมาเป็นการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างธุรกิจและสังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว

CSR ในเวลางาน และ CSR นอกเวลางานของบุคคล รวมทั้ง Responsive CSR และ Strategic CSR ขององค์กร ต่างมีความสำคัญตามบริบทที่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่สามารถทำเรื่องหนึ่ง เพื่อทดแทนอีกเรื่องหนึ่งได้ ด้วยความที่ CSR แต่ละจำพวก แต่ละรูปแบบ มีคุณสมบัติในการให้ผลได้ (Benefit) ที่ต่างกันนั่นเอง


[Original Link]