Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สารจากผู้อำนวยการ


สถานการณ์ของโลกในรอบปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่าง ๆ ต่อโลก และกับประเทศไทย ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มากก็น้อย

ในมิติเศรษฐกิจ ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจของไทย ตัวเลขจีดีพีที่คาดว่าจะไม่เกิน 4% ในปีนี้ เนื่องจากสามปัจจัยหลัก คือ ผลกระทบจากสงครามการค้าโลก มูลค่าการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ไม่น่าจะเพิ่มได้มากกว่าปีที่แล้ว และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะชะลอออกไป จนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ในมิติด้านสังคม ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ปี 2561 ที่ประกาศโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ระบุว่า ไทยอยู่อันดับที่ 99 จาก 180 ประเทศทั่วโลก (ได้ 36 คะแนนจาก 100 คะแนน) ตกจากอันดับที่ 96 ของโลก ที่ได้ 37 คะแนนในปีก่อนหน้า รวมทั้งปัญหาการเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2562 จะเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขสัดส่วนผู้สูงวัยจะมีมากกว่าเด็ก และประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรสูงอายุถึง 1 ใน 5 ในอีกสองปีข้างหน้า

ในมิติสิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์ลมวนขั้วโลก หรือ โพลาร์ วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex) ทำให้พื้นที่หลายรัฐในสหรัฐอเมริกามีอุณหภูมิหนาวเย็นที่สุดในรอบสองทศวรรษ วิกฤติขยะในท้องทะเลที่มีปริมาณมากกว่า 1 ล้านตันในแต่ละปี ซึ่งเป็นขยะพลาสติกส่วนใหญ่ และไทยติดอันดับ 6 ของโลก หรือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยอยู่ในห้วงเวลานี้

ภาคเอกชน จำเป็นที่จะต้องนำประเด็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มาปรับบทบาทการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าทั้งต่อสังคมและต่อกิจการ สามารถดำรงสถานะการเติบโตกิจการ และคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของกิจการ ในการสร้างผลกระทบเชิงบวก และบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

ในปี 2562 เรื่อง “คุณค่า” และ “ผลกระทบ” ถือเป็นปัจจัยหลักต่อการเสริมสร้างความยั่งยืน ที่สถาบันไทยพัฒน์นำมาเป็นแนวทางหลักในการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ จัดทำเป็น “รายงาน 6 ทิศทาง CSR ปี 2562: The Power of Sustainability” ฉบับนี้ โดยมุ่งหวังให้เป็นข้อมูลสำหรับการวางกลยุทธ์การดำเนินงานของหน่วยงานและองค์กรธุรกิจ ในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


 
 (วรณัฐ เพียรธรรม)
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์
26 กุมภาพันธ์ 2562