Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ธุรกิจกับการมีส่วนร่วมในสถานการณ์โควิด


ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของภาคธุรกิจ ในฐานะหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญของสังคม สามารถที่จะระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการช่วยเหลือ ทั้งการมอบเงินบริจาค อาหาร เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเป็นหลักพันล้านบาทได้ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ

ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่ช่วงที่สถานการณ์โควิดกำลังคลี่คลาย จากนี้ไป บริษัทต่างๆ ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ครั้งนี้ จะมีกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูที่หลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละกิจการ

ธุรกิจจำต้องจัดสรรการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องลงตัวกับสถานการณ์ที่ดำเนินไปในแต่ละระยะ มีการสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจและการช่วยเหลือสังคม โดยมิให้สังคมเกิดความรู้สึกว่าธุรกิจกำลังแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์

ลักษณะการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่สะท้อนออกมาเป็นกิจกรรมทางธุรกิจ มีทั้งในรูปแบบที่ไม่คิดมูลค่า (Pro Bono) หรือคิดเท่าต้นทุน (At Cost) หรือแสวงหากำไร (For Profit) ในแต่ละระยะของสถานการณ์


กิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่คิดมูลค่า หรือคิดเท่าต้นทุน หรือแสวงหากำไร ในแต่ละระยะของสถานการณ์โควิด

ในระยะก่อนเกิดโควิด ธุรกิจสามารถที่จะดำเนินกิจกรรมแสวงหากำไรเป็นปกติ ครั้นเมื่อสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น ธุรกิจสามารถมีส่วนช่วยเหลือแก่สังคมและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยไม่คิดมูลค่า สำหรับกิจกรรมในระยะฟื้นฟู ธุรกิจอาจมีส่วนช่วยเหลือด้วยการจำหน่ายสินค้าและบริการโดยคิดค่าใช้จ่ายเท่าต้นทุน ซึ่งการที่ธุรกิจอาสาเข้ามีส่วนร่วมช่วยเหลือในช่วงต้นๆ หลังการเกิดโควิดนั้น จะก่อให้เกิดโอกาสที่นำไปสู่กิจกรรมการสร้างรายได้ในภายหลัง

ทั้งนี้ ผลได้ของธุรกิจจากการมีส่วนร่วมในแต่ละระยะของสถานการณ์โควิด มีตั้งแต่การกระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น การเสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียงและคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงโอกาสโดยตรงทางธุรกิจ และการพัฒนาทางธุรกิจ

ผลได้ของธุรกิจจากการมีส่วนร่วมในแต่ละระยะของสถานการณ์โควิด
การรับมือ
(Response)
การฟื้นฟู
(Recovery)
การปรับตัว
(Resilience)
กระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น
เสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียง และคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่
กระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น
เสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียง และคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่
โอกาสโดยตรงทางธุรกิจ
กระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น
เสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียง และคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่
โอกาสโดยตรงทางธุรกิจ
การพัฒนาทางธุรกิจ

แน่นอนว่า “ธุรกิจจะอยู่รอดไม่ได้ หากไม่มีรายได้” แต่ขณะเดียวกัน “ธุรกิจก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ในสังคมที่ล้มเหลว” การผสมผสานความสามารถในการสร้างผลได้ทางธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเหมาะสมลงตัว จึงเป็นการสร้างคุณค่าร่วมจากการเข้ามีส่วนร่วมขององค์กรธุรกิจในแต่ละระยะของการรับมือสถานการณ์โควิด


[Original Link]