กิจการสื่อสารความยั่งยืนกันอย่างไร
ในช่วงต้นปีของทุกปี กิจการที่ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ต่างมีการประมวลข้อมูลความยั่งยืนที่ได้ดำเนินมาตลอดทั้งปี ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จัดทำเป็นรายงานเปิดเผยในช่วงเวลาเดียวกับการเปิดเผยรายงานประจำปี (Annual Report) ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Sustainability Report
รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report เป็นเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการใช้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลการดำเนินงานในภาพรวมของกิจการได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน
องค์กรที่เป็นผู้นำในการเผยแพร่รายงานความยั่งยืน ได้แก่ เหล่าบริษัทมหาชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน และผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอันที่จะสะท้อนถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานของกิจการ
เมื่อการจัดทำรายงานความยั่งยืนเป็นที่นิยมแพร่หลาย และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงมีความพยายามในการกำหนดรูปแบบของการจัดทำรายงานให้มีบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อให้ผู้อ่านรายงานสามารถศึกษาวิเคราะห์และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลที่องค์กรเปิดเผยระหว่างกันได้
ในรายงานการสำรวจ KPMG Survey of Sustainability Reporting 2020 ระบุว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2020 ร้อยละ 96 ของบริษัทในกลุ่ม G250 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500) และร้อยละ 80 ของบริษัทในกลุ่ม N100 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง คัดจาก 5,200 บริษัท จาก 52 ประเทศทั่วโลก) มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ
ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้กำหนดมาตรฐาน รวมทั้งหน่วยงานผู้กำกับดูแล และตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ ต่างมีการออกแนวทางการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
โดยมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง คือ GRI Standards ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative)
GRI เป็นองค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นหน่วยงานที่ให้กำเนิดกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนของกิจการฉบับแรก ที่เรียกว่า G1 ในปี พ.ศ.2543 ถัดจากนั้น GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก ในปี พ.ศ.2545 และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 และพัฒนามาเป็นฉบับ G4 เมื่อปี พ.ศ.2556 จนนำมาสู่การยกระดับเป็นมาตรฐานการรายงาน GRI ในปี พ.ศ.2559
ในรายงานการสำรวจ KPMG Survey of Sustainability Reporting 2020 ฉบับเดียวกัน ระบุว่า ร้อยละ 77 ของบริษัทในกลุ่ม N100 และร้อยละ 84 ของบริษัทในกลุ่ม G250 มีการใช้แนวทางหรือกรอบการรายงาน ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ
แนวทางและมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงมากสุด ได้แก่ GRI โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม N100 และราว 3 ใน 4 ของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม G250
ส่วนแนวทางและมาตรฐานอื่นที่ใช้อ้างอิงรองลงมา ได้แก่ Sustainability Accounting Standards Board (SASB) framework และ International Standards Organization (ISO)
จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน ต่างมีการใช้ GRI เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการจัดทำรายงานเป็นหลัก
ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่จัดทำรายงานความยั่งยืน หรือรายงานที่ใกล้เคียงในชื่ออื่น เป็นจำนวนราวหนึ่งในสามของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด โดยผู้ลงทุนหรือผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถศึกษาข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าว เพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของกิจการที่เกี่ยวโยงกับประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอื้อให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของกิจการได้อย่างครอบคลุมรอบด้านมากยิ่งขึ้น
[Original Link]