Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

การลงทุน ESG เติบโตต่อเนื่อง


ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของทุกประเทศที่มีการระบาด แต่การลงทุนในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) โดยเฉพาะการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) กลับมีตัวเลขการเติบโตที่ต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 25 ต่อปี ในช่วง 5 ปี (ค.ศ.2016-2020) ที่ผ่านมา

จากข้อมูลการสำรวจ 2020 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ระบุว่า การเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG ผนวกในการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุน มีเม็ดเงินสูงถึง 25.2 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2563 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43.6 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2561

สำหรับตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 มาอยู่ที่ 35.3 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2563 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในช่วงเวลา 2 ปี โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 35.9 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด จำนวน 98.42 ล้านล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น

โดยสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนตามกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืน 7 รูปแบบตามการจำแนกของ GSIA* พบว่า การลงทุนโดยผนวกเกณฑ์ด้าน ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน (ESG integration) มีมูลค่ามากสุด รองลงมาเป็นการลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านลบ / ตัดออกจากกลุ่ม (Negative/exclusionary screening) อยู่ที่ 15 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนเพื่อใช้สิทธิผู้ถือหุ้นออกเสียงในกิจการ (Corporate engagement and shareholder action) อยู่ที่ 10.5 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองที่เป็นบรรทัดฐานนิยม (Norms-based screening) อยู่ที่ 4.14 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนตามประเด็นความยั่งยืนที่สนใจ (Sustainability themed investing) อยู่ที่ 1.95 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านบวก / เลือกที่ดีสุดในกลุ่ม (Positive/best-in-class screening) อยู่ที่ 1.38 ล้านล้านเหรียญ และการลงทุนเพื่อชุมชน / เป็นผลดีต่อโลก (Impact/community investing) อยู่ที่ 0.35 ล้านล้านเหรียญ ตามลำดับ

ขณะที่การลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ผ่านการลงทุนในกองทุนจำนวน 48 กองทุน ในไตรมาสที่สองของปี ค.ศ.2021 พบว่า มีมูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.5 จากเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2020

โดยในรอบครึ่งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท (ไตรมาสล่าสุดเป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.5 พันล้านบาท) มีกองทุนเปิดใหม่จำนวน 5 กองทุน รวมครึ่งปีแรกมีกองทุนเปิดใหม่ 20 กองทุน ในจำนวน 48 กองทุนเป็นการลงทุนหุ้นในประเทศ 15 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินราว 1.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนทั้งหมด

และหากพิจารณาในแง่ผลตอบแทนของการลงทุนที่ยั่งยืน จากดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG ซึ่งคัดเลือกจากกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ที่ประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่าผลตอบแทนรวม (Total Return) ย้อนหลัง 1 ปี ของ Thaipat ESG Index (THAIESGT) อยู่ที่ร้อยละ 25.85 ขณะที่ ดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ร้อยละ 17.65 (ข้อมูล ณ 29 ก.ค. 64)

ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า Benchmark หรือเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนของตลาดโดยรวม และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลตอบแทนจากการลงทุนในแบบ ESG ทั่วโลก จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนหนึ่ง ที่ผลักดันให้ปริมาณการลงทุน ESG มีอัตราที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


--------------------------------------
* 7 รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืน ตามการจำแนกของ GSIA ประกอบด้วย
การลงทุนโดยผนวกเกณฑ์ด้าน ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน (ESG integration): เป็นการผนวกการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างชัดแจ้งในกระบวนการตัดสินใจลงทุน

การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านลบ / ตัดออกจากกลุ่ม (Negative/exclusionary screening): เป็นการคัดกรองการลงทุน โดยไม่เลือกลงทุนในอุตสาหกรรม ในบริษัท หรือในโครงการ โดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการคัดหลักทรัพย์ออกจากการพิจารณาลงทุน

การลงทุนเพื่อใช้สิทธิผู้ถือหุ้นออกเสียงในกิจการ (Corporate engagement and shareholder action): เป็นการใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นในการแทรกแซงบทบาทของกิจการ ผ่านการสานสัมพันธ์กับกิจการโดยตรง (อาทิ ติดต่อสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูง และ/หรือคณะกรรมการบริษัท) การเสนอหรือร่วมจัดทำข้อเสนอในฐานะผู้ถือหุ้น (อาทิ การเสนอวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และ/หรือ การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการบริษัท) รวมถึงการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นที่เป็นไปตามแนวทาง ESG โดยรวม

การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองที่เป็นบรรทัดฐานนิยม (Norms-based screening): เป็นการคัดกรองการลงทุนโดยใช้เกณฑ์ด้านมาตรฐานระหว่างประเทศหรือบรรทัดฐานสากล อาทิ OECD, ILO, UN, UNICEF ฯลฯ ในการคัดสินทรัพย์ที่จะเลือกลงทุนหรือไม่เลือกลงทุน รวมถึงการเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุน

การลงทุนตามประเด็นความยั่งยืนที่สนใจ (Sustainability themed investing): เป็นการลงทุนที่ให้น้ำหนักกับประเด็นความยั่งยืนต่อสินทรัพย์ที่เข้าลงทุน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานทดแทน เทคโนโลยีสะอาด เกษตรกรรม น้ำ อาหาร ฯลฯ โดยอาจพิจารณาเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะหรือในหลายประเด็นร่วมกัน

การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านบวก / เลือกที่ดีสุดในกลุ่ม (Positive/best-in-class screening): เป็นการคัดกรองการลงทุนในอุตสาหกรรม ในบริษัท หรือในโครงการ ที่เลือกจากยูนิเวอร์สของหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เทียบกับหลักทรัพย์อื่นในกลุ่ม

การลงทุนเพื่อชุมชน / เป็นผลดีต่อโลก (Impact/community investing): เป็นการลงทุนมุ่งผลกระทบ มักเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในระดับชุมชน ที่เม็ดเงินจะถูกกระจายไปยังบุคคลหรือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน หรือไปยังธุรกิจที่มีความมุ่งประสงค์ (Purpose) ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน



[Original Link]