จับตา “5 ธุรกิจ” น่าลงทุนแห่งอนาคต
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG: Environmental, Social, and Governance) มีการเติบโตทั่วโลก และกินสัดส่วนหลักของการลงทุนที่ยั่งยืน คิดเป็น 71% ของเม็ดเงินลงทุนที่ยั่งยืนทั้งหมดที่มีอยู่ราว 35.3 ล้านล้านเหรียญ (GSIA, 2020)
มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการสำรวจกองทุนยั่งยืนทั่วโลก ในรอบไตรมาส 3-21 ระบุว่า มูลค่ากองทุนยั่งยืนทั่วโลกเติบโตเกือบเท่าตัวในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในภูมิภาคยุโรป โดยจำนวนกองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นถึง 51% ในไตรมาสที่ 3 หรือรวมมากกว่า 7,000 กองทุน
ทรัพย์สินรวมของกองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีมูลค่าราว 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการเพิ่มขึ้นของกองทุนในยุโรปทำให้มีส่วนแบ่งตลาดที่ 88% (จากช่วงก่อนมีการบังคับใช้เกณฑ์ SFDR ที่ 82%) เม็ดเงินการลงทุนยั่งยืนทั่วโลกเป็นเงินไหลเข้า 1.3 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
สำหรับมูลค่ากองทุนยั่งยืนในประเทศไทย พบว่า มีอัตราการเติบโตเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี ค.ศ.2020 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท แต่มูลค่าทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนในต่างประเทศ กว่า 97% ของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในขณะที่การลงทุนในประเทศมีมูลค่ารวมเพียง 1.5 พันล้านบาท
สาเหตุหนึ่ง เป็นเพราะธุรกิจที่เป็นตัวเลือกของการลงทุนธีม ESG ในตลาดทุนมีจำกัด บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูงส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจเก่า (Old Economy) ขณะที่ตัวเลือกในตลาดทุนต่างประเทศมีมากกว่า จึงทำให้เม็ดเงินการลงทุนที่ยั่งยืนของไทยไหลออกไปต่างประเทศเกือบทั้งหมด
ธุรกิจที่จัดว่าเป็นดาวเด่นสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน และมีอัตราการเติบโตสูง จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) โดยธุรกิจน่าลงทุนที่มีแนวโน้มจะสร้างมูลค่าสูงให้แก่ผู้ลงทุนในอนาคต ประกอบด้วย
ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ (Electric Vehicles & Components) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030
ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ที่จะไปเสริมหนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทย อาทิ พันธุวิศวกรรม (การดัดแปลงยีน) การผลิตสารเวชภัณฑ์ (เช่น ยา วัคซีน โปรตีนเพื่อการบําบัด) การผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม การผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ในการผลิตสารชีวโมเลกุล สารออกฤทธิ์ชีวภาพ การผลิตวัตถุดิบและ/หรือวัสดุจําเป็นที่ใช้ในการทดลองหรือทดสอบด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์และ/หรือสังเคราะห์สารชีวภาพ
ธุรกิจการเกษตรและระบบอาหารแบบเจริญทดแทน (Regenerative Agriculture & Food System) ที่เน้นการคืนสภาพของหน้าดิน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงวัฏจักรของน้ำ การเพิ่มพูนบริการจากระบบนิเวศ การสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีการทางชีวภาพ การเพิ่มภาวะพร้อมผันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง การจัดจำหน่าย การบริโภค ไปจนถึงกระบวนการกำจัดของเสีย รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมการผลิตอาหารที่เป็นผลบวกต่อธรรมชาติ (Nature-Positive Production)
ธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก (Renewable Resources & Alternative Energy) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน สำหรับรองรับการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตามที่ประเทศไทยประกาศในเวทีประชุม World Leaders Summit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC COP26) ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065
ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่ยังไม่ต้องถึงขั้นแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) แต่เป็นการเงินแบบหลากหลาย (Diversified Finance) ที่ไม่ได้มีเพียงธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์ หรือธุรกิจประกัน เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างศึกษาการออกใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในระดับรายย่อย (Retail CBDC) เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการใช้จ่ายและชำระเงินที่ปลอดภัย ลดต้นทุนต่อหน่วยของการใช้เงินสดในระบบ เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งได้เริ่มมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งที่เป็นศูนย์ซื้อขาย (Exchange) นายหน้า (Broker) ผู้ค้า (Dealer) ที่ปรึกษา (Advisor) และผู้จัดการเงินทุน (Fund Manager) ดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ที่ ก.ล.ต. เพิ่มมาเป็นประเภทธุรกิจใหม่ภายใต้การกำกับดูแลในปัจจุบัน
[Original Link]