Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ความเชื่อมโยงระหว่าง ESG กับ Bottom Line ของกิจการ


ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่มารุมเร้าทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะชะงักงันในสายอุปทาน ปัญหาเงินเฟ้อโลก ความผันผวนของค่าเงิน และจากปัจจัยภายในที่เป็นผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อพนักงาน ลูกค้า ชุมชนอันเป็นแหล่งที่ตั้งของสถานประกอบการ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นอย่างมาก จนเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งที่ถูกบรรจุเป็นหลักเกณฑ์ในการขอสินเชื่อของธนาคาร พัฒนาเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบของผู้ลงทุนสถาบัน เป็นปัจจัยใหม่ในการตัดสินใจจับจ่ายของลูกค้า และกลายมาเป็นข้อพิจารณาในการสมัครเข้าทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เป็นต้น

มัวร์ โกลบอล กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและการบัญชี อายุกว่า 100 ปี ซึ่งมีสำนักงานกระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ ได้ให้ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจ (Cebr) ทำการสำรวจอัตราการรับเอาหลักการ ESG ของกิจการขนาดใหญ่จำนวน 1,262 แห่งในสามภูมิภาคหลัก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปี พ.ศ.2565 โดยวิเคราะห์อิทธิพลที่มีต่อผลประกอบการ เทียบกับกิจการที่มิได้ให้ความสำคัญต่อการนำเอาหลักการ ESG ไปปฏิบัติใช้

ผลสำรวจในรายงานที่มีชื่อว่า The $4 Trillion ESG Dividend: Bottom line benefits of adopting ESG practices ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน พบว่า กิจการที่เน้นเรื่อง ESG ในรอบสามปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 9.7% ขณะที่กิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 4.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน

โดยยอดรายได้ที่เพิ่มขึ้นของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG ในกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ มีมูลค่าอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับกิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG จะเติบโตอยู่เพียง 402.4 พันล้านเหรียญ

ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่า หากกิจการทั้งหมดที่ทำการสำรวจ หันมาเน้นเรื่อง ESG อย่างถ้วนหน้า ยอดรายได้ที่เติบโตขึ้นจะขยับไปอยู่ที่ 4 ล้านล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นอีก 27%

ส่วนอัตราการเติบโตของกำไร สำหรับกิจการที่เน้นเรื่อง ESG ในรอบสามปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 9.1% ขณะที่กิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่ 3.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน

หนึ่งในเหตุผลที่ยอดรายได้และกำไรมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG เป็นเพราะ 83%ของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG เชื่อว่า การนำเอาเรื่อง ESG มาขับเคลื่อนธุรกิจ ได้ช่วยเพิ่มการคงอยู่ของลูกค้า (Customer Retention)

และแน่นอนว่า การรับเอาเรื่อง ESG มาปฏิบัติใช้ มิได้เกิดขึ้นโดยปราศจากต้นทุน โดยกิจการชั้นนำที่ถูกสำรวจ รายงานว่า ได้มีการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณในการดำเนินการ จึงทำให้อัตราการเติบโตของกำไร มีตัวเลขที่ต่ำกว่าการเติบโตของรายได้อยู่เล็กน้อย

อย่างไรก็ดี 84% ของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG ระบุต่อว่า ค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับการปรับปรุงพัฒนาเรื่อง ESG ได้ถูกชดเชยด้วยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

ในแง่ของบุคลากร จากข้อมูลการสำรวจ พบว่า กิจการที่เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของกำลังคน (Headcount) อยู่ที่ 9.9% ขณะที่กิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG มีอัตราการเติบโตของกำลังคนอยู่ที่ 4.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

เหตุผลที่อัตราการเติบโตของกำลังคนสูงกว่ากิจการที่มิได้เน้นเรื่อง ESG เป็นเพราะ 51% ของกิจการที่เน้นเรื่อง ESG มีตำแหน่งงานเฉพาะด้าน ESG รองรับในผังองค์กร และมีโอกาสการบรรจุบุคลากรในตำแหน่งงานทั่วไปที่ว่างลง เนื่องจากสามารถดึงดูดผู้สมัครงานใหม่ที่มีคุณสมบัติ จากภาพลักษณ์ด้าน ESG ที่องค์กรดำเนินการและเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ

ผลสำรวจชิ้นล่าสุดนี้ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ESG กับ Bottom Line ทางธุรกิจ ซึ่งกิจการยากที่จะปฏิเสธว่า การดำเนินงานเรื่อง ESG ไม่มีส่วนสัมพันธ์ในทางที่ไปเสริมรายได้หรือผลกำไร (หลายกิจการปัจจุบัน มองว่าเป็นภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายทางเดียว) และยังอาจสูญเสียโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งการได้บุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานกับองค์กร


[Original Link]