Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ESG Meter: มาตรวัดความยั่งยืนของกิจการไทย


จากตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในกระบวนการลงทุนได้กลายเป็นกระแสหลัก (Mainstream) โดยมีมูลค่าตลาดบริการข้อมูลด้าน ESG อยู่ที่ 1.28 พันล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2565 และคาดว่าจะมีขนาดตลาดเพิ่มเป็น 1.59 พันล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2566 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วงห้าปี (พ.ศ. 2564-2568) คาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 23 ต่อปี


ขนาดตลาดบริการข้อมูล ESG (ปี พ.ศ.2564-2568)

แม้ขนาดตลาดข้อมูล ESG ของบริษัทนอกตลาด (Private Markets) หรือบริษัทเอกชนที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะยังมีขนาดเล็ก โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 45 ล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2565 แต่ออพิมัสคาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วงห้าปี (พ.ศ. 2564-2568) สูงถึงร้อยละ 42 ต่อปี

ด้วยเหตุที่ผู้ลงทุนและผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ไม่สามารถนั่งวิเคราะห์ข้อมูล ESG เป็นรายบริษัทได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เนื่องจากข้อมูล ESG มีปริมาณมากและการเปิดเผยข้อมูล ESG ของแต่ละบริษัทยังมีรูปแบบที่มีความแตกต่างหลากหลาย มิได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ยากต่อการเปรียบเทียบ จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานผู้ให้บริการประเมิน (Rating) หรือจัดอันดับ (Ranking) ที่มีความเชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์ข้อมูลให้ จึงเกิดเป็นตลาดบริการข้อมูล ESG ที่มีการเติบโตสูง ตามอุปสงค์ของผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูล ESG ที่เพิ่มขึ้น

ในประเทศไทย ตลาดบริการข้อมูล ESG แทบทั้งหมดในปัจจุบัน เป็นการให้บริการข้อมูล ESG ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Public Markets) โดยจากการสำรวจ พบว่า หน่วยงาน ESG Rating ในสังกัดสถาบันไทยพัฒน์ มีการเผยแพร่ข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่ทำการประเมิน อยู่จำนวน 763 ราย ขณะที่หน่วยงาน Sustainalytics ในสังกัดมอร์นิ่งสตาร์ มีการเผยแพร่อยู่ 140 กว่าราย และหน่วยงาน ESG Research ในสังกัด MSCI มีการเผยแพร่อยู่ 42 ราย ตามลำดับ (ข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2565)

ทั้งนี้ รูปแบบในการประเมินและการเผยแพร่ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานผู้ประเมินจะมีระเบียบวิธีประเมินและการแสดงผลประเมินที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลที่หน่วยงานจะหาได้ และลักษณะของกลุ่มลูกค้าผู้ใช้ข้อมูลของหน่วยงาน

หน่วยงาน ESG Research ในสังกัด MSCI ใช้วิธีแสดงผลการประเมินเป็นตัวอักษร โดยมีระดับ AAA-AA สำหรับกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำ (Leader) ในกลุ่มอุตสาหกรรม ระดับ A-BBB-BB สำหรับกลุ่มบริษัทที่ตกอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย (Average) ของกลุ่มอุตสาหกรรม และระดับ B-CCC สำหรับกลุ่มบริษัทที่อยู่ล้าหลัง (Laggard) ในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยระเบียบวิธีที่ MSCI ใช้ ถูกออกแบบให้คำนึงถึงนัยสำคัญทางการเงิน (Financial Significance) ของประเด็น ESG

หน่วยงาน Sustainalytics ในสังกัดมอร์นิ่งสตาร์ ใช้วิธีแสดงผลการประเมินจำแนกเป็น 5 ระดับขั้นความเสี่ยงของ ESG ได้แก่ ขั้นรุนแรง (Severe) มีระดับความเสี่ยง 40 คะแนนขึ้นไป ขั้นสูง (High) มีความเสี่ยงอยู่ในช่วง 30-40 คะแนน ขั้นกลาง (Medium) มีความเสี่ยงอยู่ในช่วง 20-30 คะแนน ขั้นต่ำ (Low) มีความเสี่ยงอยู่ในช่วง 10-20 คะแนน และขั้นที่ละได้ (Negligible) มีความเสี่ยงอยู่ในช่วง 0-10 คะแนน โดยระเบียบวิธีที่ Sustainalytics ใช้ประเมิน ESG จะพิจารณาในสองมิติ คือ โอกาสเสี่ยง (Exposure) ในประเด็น ESG ที่เป็นสาระสำคัญในอุตสาหกรรม และความสามารถในการจัดการความเสี่ยงดังกล่าว

หน่วยงาน ESG Rating ในสังกัดสถาบันไทยพัฒน์ มีการจำแนกผลประเมินภายในเป็น 5 ระดับ ใช้วิธีแสดงผลในลักษณะ Meter โดยมีมาตรา 100 ส่วน คำนวณตามคะแนน ESG ที่ได้รับในแต่ละด้าน โดยกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนในแต่ละด้านเกินสองในสามของคะแนนเต็มในทุกด้านจัดอยู่ในระดับ Gold Class กลุ่มบริษัทที่มีคะแนนในแต่ละด้านเกินหนึ่งในสามของคะแนนเต็มในทุกด้านจัดอยู่ในระดับ Silver Class และกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนปรากฏในทุกด้าน ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่ปราศจากคะแนนจัดอยู่ในระดับ Bronze Class โดยระเบียบวิธีที่สถาบันไทยพัฒน์ใช้จะเป็นการประเมินปัจจัยด้าน ESG ในสามมิติ คือ มิติ Topic-specific มิติ Industry-specific และมิติ Company-specific ในกรณีที่บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูล ESG ต่อสาธารณะที่เพียงพอต่อการประเมิน และจะใช้การประเมินตามชุดตัวชี้วัดพื้นฐาน WFE ESG Metrics ในกรณีที่บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูล ESG ขั้นต่ำตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report)

จะเห็นว่าวิธีประเมินของ MSCI ให้ความสำคัญที่ประเด็น ESG ซึ่งส่งผลต่อบรรทัดสุดท้ายของกิจการ (คือ กำไร) ส่วน Sustainalytics ประเมินโดยมองประเด็น ESG ว่าเป็นความเสี่ยง (Risks) ที่กิจการต้องบริหารจัดการ ขณะที่การประเมินของสถาบันไทยพัฒน์ ให้น้ำหนักต่อประเด็น ESG ว่าเป็นตัวขับคุณค่า (Value Driver) ตามแนวทางของ UN PRI ที่คำนึงถึงปัจจัย ESG ทั้งในแง่ของการสร้างการเติบโต (Growth) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และการจัดการความเสี่ยง (Risk Management)

ปัจจุบัน ข้อมูลผลประเมิน ESG ของกิจการในไทย ที่สถาบันไทยพัฒน์รวบรวมไว้ มีจำนวนทั้งสิ้น 854 กิจการ ครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนในตลาด 763 แห่ง กองทุนและบริษัทที่อยู่นอกตลาด 91 ราย และคาดว่า ในสิ้นปีนี้ จะมีจำนวนกิจการที่ได้รับการประเมินเพิ่มเป็น 1,000 ราย โดยจะเป็นการเติบโตจาก Private Markets แซงหน้า Public Markets เป็นปีแรกนับตั้งแต่ที่เริ่มการประเมินในปี พ.ศ.2558

ทั้งนี้ การออกแบบการแสดงผลประเมินในรูปของมาตรวัดความยั่งยืน หรือ ESG Meter ของกิจการไทย ให้มีความคล้ายคลึงกับมาตรวัดน้ำ มาตรวัดไฟฟ้า ก็เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านผล องค์กรสามารถรับรู้สถานะด้าน ESG ที่เป็นปัจจุบัน ถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการดีแล้ว และสิ่งที่ควรดำเนินการ (Gap) สำหรับนำไปพัฒนายกระดับการดำเนินงานด้าน ESG ในรอบปีถัดไป


[Original Link]