ระบบ IT: จิกซอว์สำคัญของ 'ความยั่งยืน'
Paessler AG ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ให้บริการนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 ซึ่งมีผู้ใช้มากกว่า 5 แสนรายในกว่า 170 ประเทศ ได้เผยแพร่รายงานวิจัยที่มีชื่อว่า “ทิศทางที่ต้องจับตา: การมอนิเตอร์ระบบ คือ เส้นทางสู่ระบบ IT ที่ยั่งยืน” เพื่อทำความเข้าใจแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของธุรกิจต่าง ๆ โดยเจาะลึกไปถึงปัจจัยขับเคลื่อนและอุปสรรคต่อการดำเนินแผนด้าน IT ที่ยั่งยืน
งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นผลจากการสำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับอาวุโสกว่า 200 คน ในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้ระหว่าง 50 ล้าน ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม ปี 2565 ถึงเดือนมีนาคม ปี 2566 ครอบคลุมธุรกิจในภาคการผลิต ภาคบริการที่สำคัญต่อสาธารณะ และภาคเทคโนโลยี/โทรคมนาคม/ศูนย์ข้อมูล ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ผลสำรวจพบว่า การแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) หรือการเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานจากระบบที่ใช้แรงงานคนไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลหรือระบบอัตโนมัติ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและต้นทุน เป็นเรื่องที่ผู้ถูกสำรวจในตลาดอาเซียนให้ความสำคัญในลำดับแรกของธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (โดยมีสัดส่วน 66%) รองลงมาเป็นเรื่องความยั่งยืน (61%) และการเพิ่มประสิทธิภาพ/ผลิตผล (56%)
แม้ความยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่ธุรกิจในทุกตลาดให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ แต่ธุรกิจในอาเซียนที่วางกลยุทธ์และมีแผนดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนกลับมีไม่ถึงครึ่ง โดยกว่า 52% ยังคงอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน
ทั้งนี้ ผลสำรวจในไทยพบว่า มีธุรกิจที่กำลังจัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน และธุรกิจที่มีกลยุทธ์และแนวทางการเดินหน้าที่ชัดเจน อยู่ในอัตราเท่ากันที่ 48% ที่เหลือเป็นธุรกิจซึ่งระบุว่าไม่ต้องมีกลยุทธ์เพราะใช้ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (2%) และเป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีและยังไม่มีแผนกลยุทธ์ความยั่งยืน (2%)
เมื่อเจาะลึกเฉพาะเรื่องความยั่งยืน พบว่า กลยุทธ์ระบบ IT ที่ยั่งยืนอยู่ในแผนงานของบริษัทต่าง ๆ กว่า 90% แต่แม้จะอยู่ในแผนงานแล้วก็ตาม ธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่า ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมากในเรื่องกลยุทธ์ระบบ IT ที่ยั่งยืน โดยบริษัทราว 96% มองว่า ผู้บริหารระดับสูงยังขาดการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้
“เมื่อไม่เห็นความสำคัญและไม่เข้าใจ ผู้บริหารระดับสูงก็มองไม่ออกว่า กลยุทธ์ระบบ IT ที่ยั่งยืน จะช่วยให้เป้าหมายความยั่งยืนในภาพรวม ตลอดจนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) บรรลุผลได้อย่างไร” ผู้มีอำนาจตัดสินใจในธุรกิจศูนย์ข้อมูลแห่งหนึ่งกล่าว
ในแง่ของการมอนิเตอร์โครงสร้างระบบ IT แบบเรียลไทม์ มากกว่า 90% ของธุรกิจทั้งหมดในทุกตลาด เห็นถึงประโยชน์ โดยผู้ถูกสำรวจในไทย ระบุว่า การมอนิเตอร์โครงสร้างระบบ IT แบบเรียลไทม์ จะช่วยตรวจสอบปัจจัยสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น คาร์บอน (100%) ช่วยปรับปรุงการใช้พลังงาน (95%) ช่วยให้เห็นตัวเลขการประหยัดทรัพยากรที่วัดผลได้ (92%) ช่วยวิเคราะห์ความต้องการอุปกรณ์ IT ในอนาคตได้อย่างแท้จริง (86%) และช่วยลดการปล่อยคาร์บอน (78%) ตามลำดับ
ในงานสำรวจชิ้นนี้ ยังพบว่า อุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืน เกิดจากการที่ธุรกิจส่วนใหญ่ (72%) มีองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติและกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยธุรกิจในไทยที่ไม่มีหรือมีองค์ความรู้ระดับต่ำ มีสัดส่วนอยู่ที่ 37% มีองค์ความรู้ระดับปานกลางอยู่ที่ 48% และมีองค์ความรู้ระดับสูงอยู่ที่ 15%
ทำให้แทนที่บริษัทต่าง ๆ จะเดินหน้าตามกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนในภาพรวม แต่กลับเลือกใช้วิธีดำเนินการตามเป้าหมายและตัวชี้วัดก้าวเล็ก ๆ ซึ่งทำได้ไม่ยากในหมวดที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (72%) การรีไซเคิล (60%) การประหยัดน้ำและพลังงาน (58%) และการรายงานงบการเงินที่โปร่งใส (59%) เป็นต้น
นอกจากการขาดความรู้ความสามารถภายในองค์กร อุปสรรคสำคัญด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย สมดุลตัวชี้วัด ESG กับเป้าหมายการเติบโต (58%) ต้นทุนการดำเนินแผนงาน (48%) หน่วยงานรัฐขาดความชัดเจนเรื่องมาตรฐานการรายงาน (48%) และการขาดตัวชี้วัด ROI ของแผนงานด้านความยั่งยืน (38%)
“นักลงทุนต้องการให้เรามีเครื่องมือวัดผลด้านความยั่งยืน (ESG) แต่ก็อยากให้ธุรกิจทำผลกำไรให้ได้มากขึ้นในเวลาเดียวกันด้วย เรียกว่า อยากได้ความยั่งยืนโดยไม่กระทบกับกำไรบริษัท” คำกล่าวจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายหนึ่งในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ธุรกิจจำนวนมากมองว่า ความยั่งยืนและผลกำไรไปด้วยกันไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง หากมีการมอนิเตอร์ระบบและวัดผลด้วยค่าที่ถูกต้อง จะทำให้ทราบว่า การประหยัดค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นได้จริง เช่น ศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานลดลง เพราะการปรับปรุงด้านระบบความร้อน ความเย็น และการระบายอากาศ
การจัดทำกลยุทธ์ด้าน IT และการแปลงเป็นดิจิทัล ตลอดจนการจัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน ล้วนเชื่อมโยงและสัมพันธ์เสมือนเป็นจิกซอว์ของภาพเดียวกัน แต่ธุรกิจบางส่วนมองเป็นคนละส่วนกัน ทำให้การจัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนและกลยุทธ์การแปลงเป็นดิจิทัลแยกจากกัน ทั้งที่กลยุทธ์ระบบ IT ที่ยั่งยืน ถือเป็นจิกซอว์สำคัญในการช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม
[Original Link]