Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ระดมสมองครบทุกภาคแล้ว ได้แนวทางพัฒนา CSR

สุวัฒน์ ทองธนากุล

ขอบอกกล่าวต่อบรรดามิตรรักนัก CSR ทราบว่า ในเร็วๆ นี้ จะมีการเปิดเผยรายงานผลการระดมสมองเพื่อสกัดประเด็นเด่นที่เป็นลักษณะเฉพาะของแนวทางการทำกิจกรรม CSR หรือบทบาทการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆ ทุกภาคในประเทศไทย

นับเป็นโครงการที่น่าสนใจเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมาก ต้องขอชื่นชม ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ในสังกัดมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยพันธมิตร ได้แก่ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอตเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และ บมจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

นั่นคือโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค หรือ CSR Campus มีเป้าหมายจัดเวทีสัญจรเพื่อเรียนรู้และระดมสมอง CSR ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ เมษายน 2551 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดแรก และจนกระทั่งเดินทางมาถึงจังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่ 75 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน 2551 เป็นเวลารวม 5 เดือนเต็ม

มีคนถามว่า ทำไมถึงไม่รวมกรุงเทพฯ ให้ครบทั้ง 76 จังหวัดไปเลย ซึ่งในตอนเริ่มต้นโครงการนั้น ก็มีคำชี้แจงว่า ในกรุงเทพฯ นั้น มีเวทีอบรมสัมมนาให้ความรู้เรื่อง CSR อยู่มากมาย ต่างกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างจังหวัดซึ่งขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ CSR ด้วยเหตุนี้ โครงการ CSR Campus จึงมุ่งตอบสนองแก่ผู้ที่สนใจเรื่อง CSR ที่อยู่ในภูมิภาคเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า ได้มีแฟนพันธุ์แท้ จากกรุงเทพฯ อุตส่าห์เดินทางเข้าร่วมอบรมสัมมนาตามจังหวัดปริมณฑลที่อยู่รายรอบกรุงเทพฯ (อาทิ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา นครปฐม) และได้มีส่วนร่วมกิจกรรมในห้องเรียนอย่างขะมักเขม้น จนทำให้คณะวิทยากรมีความปลาบปลื้มอย่างมาก

บรรดาเจ้าของกิจการจากหลากหลายสาขาอาชีพในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมใจกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึก หลังเข้าร่วมกิจกรรมกิจกรรม “CSR CAMPUS: โครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค ซึ่งจัดเป็นครั้งล่าสุดที่โรงแรมพิมาน จังหวัดนครสวรรค์ โดย บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์

ด้วยเหตุนี้ สถาบันไทยพัฒน์ พร้อมทั้ง แคท ดีแทค และโตโยต้า จึงตกลงที่จะจัดเวที CSR ขึ้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ "รายงาน CSR ประเทศไทย" ในเร็ววันนี้ โดยจะประมวลและสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการระดมสมอง CSR ทั้ง 75 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เห็นถึงรูปแบบ CSR ของธุรกิจในท้องถิ่น แนวทาง CSR ของแต่ละจังหวัด และไอเดียกิจกรรม CSR มากกว่า 500 ตัวอย่าง ที่ยังไม่เคยมีการรวบรวมมาก่อน มาเสนอในงานที่จะจัดในกรุงเทพฯ เร็วๆ นี้

ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามความคืบหน้า วันเวลาการจัดงาน "รายงาน CSR ประเทศไทย" (ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงาน) หรือหากท่านใดที่ต้องการแจ้งความประสงค์ในการร่วมงานไว้ล่วงหน้า เพื่อสำรองสิทธิ์ในการรับหนังสือชุด CSR 4 ภูมิภาค (พิมพ์จำนวนจำกัด) ก็สามารถส่งอีเมลโดยใส่หัวเรื่อง (subject) ว่า "รายงาน CSR ประเทศไทย" พร้อมระบุชื่อ นามสกุล หน่วยงานที่สังกัด และหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ (สำหรับแจ้งข่าว SMS) มายัง register@csrcampus.com

อย่างไรก็ตาม ขอสรุปผลการสัมมนาสัญจรทั้งหมด 4 ภาค ที่เสร็จไปแล้วหมาดๆ คือ ภาคกลาง 25 จังหวัด ซึ่งรวมภาคตะวันออกด้วย

สรุป CSR Campus ภาคกลาง
เนื่องจากภาคกลางมีบทบาทต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศเป็นอันดับหนึ่ง โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคมีสัดส่วนถึงร้อยละ 46.2 ของผลิตภัณฑ์ประเทศ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ภาคอื่นๆ คือ เฉลี่ยถึงร้อยละ 7.8 ต่อปี แต่ภาคกลางก็มีปัญหาสำคัญในเรื่องความไม่สมดุลและยั่งยืนของการพัฒนา มีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่สูง และต้องเผชิญกับผลกระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง

ทั้งนี้ ผลการระดมความคิดเพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนาซีเอสอาร์ของกลุ่มจังหวัดภาคกลาง สามารถรวบรวมประเด็น CSR ได้ทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ได้แก่ ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ประเด็นความเป็นอยู่และความปลอดภัยในการบริโภค ประเด็นการฟื้นฟูธรรมชาติการเกษตร และแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งประเด็นเชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์ และชุมชน

เริ่มจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 ซึ่งเน้นหนักในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ โดย จ.นนทบุรี เสนอให้มีการจัดทำโครงการรักษ์นนท์รักสิ่งแวดล้อม จ.ปทุมธานี ต้องการคืนน้ำใสให้ปทุม จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ความสำคัญกับกิจกรรม 5ส (สะดวก สะอาด สะสาง สุขลักษณะ สร้างนิสัย) และ จ.สระบุรี ต้องการสร้างความเข้มแข็งและเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 เน้นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการบริโภค เริ่มที่ จ.ชัยนาท เสนอให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จ.ลพบุรี เน้นเรื่องอาหารปลอดภัย จ.สิงห์บุรี มุ่งเน้นการให้ความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและภูมิปัญญาชาวบ้านในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ จ.อ่างทอง เสนอเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ

สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูธรรมชาติ การเกษตร และแหล่งท่องเที่ยว โดย จ.สมุทรปราการ ได้เสนอกิจกรรมลดโลกร้อนสัญจร มอบความรู้สู่ชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา ต้องการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวลุ่มน้ำบางปะกงแบบบูรณาการ จ.ปราจีนบุรี เน้นรณรงค์เรื่องการเกษตรดี มีมาตรฐาน จ.สระแก้ว ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงวัฒนธรรม และเชิงนิเวศน์ และ จ.นครนายก เสนอกิจกรรมการ (นั่งเกวียน) ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการรักษ์ธรรมชาติ

กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 เน้นประเด็นเชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์ และชุมชน โดยที่ จ.นครปฐม มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สายน้ำและปลูกป่า จ.ราชบุรี ต้องการเป็นเมืองสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน จ.กาญจนบุรี ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และ จ.สุพรรณบุรี เสนอให้มีการจัดการศึกษาเพื่อชุมชน

ขณะที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 มุ่งประเด็นไปที่การอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวและธรรมชาติ โดย จ.เพชรบุรี เสนอเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการมีส่วนร่วม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็เสนอประเด็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สร้างความเข้มแข็งแบบมีส่วนร่วมเช่นกัน ส่วน จ.สมุทรสาคร เสนอให้จัดทำโครงการรักษ์สาคร และ จ.สมุทรสงคราม เสนอโครงการแม่กลองคลองสวย

ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ โดย จ.ชลบุรี ต้องการรณรงค์เรื่องกินเที่ยวอยู่อย่างปลอดภัย จ.ระยอง เน้นหนักเรื่องการคืนปอดให้ชาวระยอง จ.จันทบุรี ต้องการให้มีความดื่มด่ำกับธรรมชาติ อาหารปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และ จ.ตราด มุ่งเน้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าชายเลน

สรุปแนวทางการพัฒนาซีเอสอาร์ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางทั้ง 25 จังหวัด จะมุ่งเน้นไปที่การลดผลกระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากความไม่สมดุลและยั่งยืนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่พึ่งพิงกับภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินกว่าความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเดิม อีกทั้งยังก่อให้เกิดของเสียตามมา ทำให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ปัญหาขยะ ที่ส่งผลต่ออาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่

แนวทางการแสดงบทบาทด้าน CSR จะเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปจัดทำแผนเพื่อการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมตามประเด็นที่ค้นพบว่า มีคุณค่าเป็นที่ต้องการและน่าสนใจ ซึ่งสามารถปรากฎในกระบวนการทำธุรกิจ หรือเป็นกิจกรรมส่งเสริมสังคมก็ได้


[Original Link]