Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ฟื้นเศรษฐกิจ ด้วยกลไกซีเอสอาร์ (2)

ศรัญยู ตันติเสรี

มาตรการต่างๆ ที่พรั่งพรูออกมาจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการช่วยเหลือผู้ประกันตนคนละ 2,000 บาท หรือ มาตรการธงฟ้า จำหน่ายสินค้าราคาถูก ซึ่งทุกมาตรการล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ไขที่เกิดจากภาครัฐแทบทั้งสิ้น แต่หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ในยั่งยืนก็คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรธุรกิจ ที่จะต้องร่วมกันส่งเสริมแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งถือเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบทางสังคมในระยะยาว

ทั้งนี้แนวทางใหม่ๆ ในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจได้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมนั้น มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิเช่น การเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสหรือชุมชนในระดับฐานรากได้เข้ารับการฝึกทักษะอาชีพ การเข้าถึงแหล่งทุน และการสร้างรายได้ ด้วยการให้เข้าร่วมงานหรือเป็นผู้ส่งมอบ (Suppliers) ในธุรกิจ หรือการที่ธุรกิจผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อผู้มีรายได้น้อย หรือในระดับฐานรากโดยไม่เน้นผลกำไร แต่คำนึงถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า “ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น” (Inclusive Business)

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ บอกว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้โดยลำพัง กล่าวคือ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยภาครัฐฝ่ายเดียว หรือภาคเอกชนฝ่ายเดียว แต่จะต้องเกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และต้องเร่งกระทำอย่างเร่งด่วน ซึ่งแนวทางในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบทางสังคมในภาวะเร่งด่วนนี้ จำเป็นต้องตั้งอยู่บนหลักการสำคัญเพื่อนำไปปฏิบัติมีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือ

ข้อแรก รัฐควรออกมาตรการจูงใจเฉพาะกิจที่มีกำหนดเวลา เพื่อให้ภาคเอกชนนำกลไก CSR มาใช้ในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาเป็นการเร่งด่วน และ ข้อสอง รัฐควรบูรณาการแผนงานของรัฐในการบรรเทาผลกระทบทางสังคมจากวิกฤติเศรษฐกิจ และผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่าง รัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยใช้กิจกรรม CSR เป็นแกนกลางในการผสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย

“มาตรการต่างๆ ที่ออกมาของรัฐบาลนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้น สิ่งที่ผมมองคือเราควรมองในระยะยาวด้วย การส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจทำ CSR ด้วยการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ขณะที่องค์กรธุรกิจเองต่างก็พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเลย์ออฟพนักงาน แต่หากมองในทางกลับกัน ช่วงเวลาแบบนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่แต่ละแห่งจะได้ทำการปัดกวาดบ้านของตัวเอง และได้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากรว่าควรรักษาคนไหนไว้ ดังนั้นช่วงโอกาสแบบนี้การทำ CSR จะมีส่วนช่วยให้องค์กรนั้นอยู่รอดได้”

5 ข้อเสนอ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
พิพัฒน์ ยังได้เสนอวิธีการในการส่งเสริมการทำ CSR เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบทางสังคมในภาวะเร่งด่วน น่าจะประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่

1.จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านสังคม (Social Board) ซึ่งครอบคลุมกระทรวงหลักที่รับผิดชอบด้านสังคม อาทิเช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านประชาสังคมและด้านธุรกิจเพื่อสังคม อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านสังคมเป็นประธาน เพื่อให้เกิดบูรณาการ พร้อมผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยใช้กิจกรรม CSR เป็นแกนกลางในการผสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย

2.เร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา พ.ศ. 2551 เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีให้มีหรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะมาตรการจูงใจ เพื่อให้เอกชนนำกลไกการดำเนินงาน CSR มาใช้ในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ

3.จัดหาช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้าน CSR อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐ ในรูปแบบของสถานีโทรทัศน์หรือสถานีวิทยุเพื่อสังคม เพื่อรณรงค์ให้เกิดการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการต่างๆ ในวงกว้าง

4.ดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางสังคม (Social Mega-Project) ที่มิใช่เรื่องของสิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นทุนมนุษย์ ในประเด็นที่มีความขาดแคลนเฉพาะหน้า เช่น การผลิตแพทย์และพยาบาลชุมชน แบบ Fast Track ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการดูแลปัญหาสุขภาพอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ การตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อทำงานเชิงรุกในชุมชน เพื่อรับมือกับปัญหาสังคม เช่น การลักทรัพย์ การพนัน อาชญากรรม อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพครูทั่วประเทศ ด้วยการใส่ “ยุทธศาสตร์” ใน “ครุศาสตร์” สู่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว พร้อมปรับเนื้อหาหลักสูตรและการเพิ่มเติมวิชาด้าน CSR ลงไปในทุกสถาบันอุดมศึกษา

5.การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางสังคมตามแนวที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด โดยมีสิ่งจูงใจทางการเงินและภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจ ในรูปแบบของ “Inclusive Business”


[Original Link]