Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

อนาคต CSR ประเทศไทย จะไปทางไหนต่อ !!


(บางส่วน)

กลางกระแสคลื่นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) ที่ถาโถม จนวันนี้แทบจะเรียกได้ว่า กว่า 90% ของธุรกิจไทยระบุว่าตนเองทำ CSR ผลสำรวจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ระบุว่า กว่า 81% ขององค์กรนั้นมีนโยบาย CSR ก็เป็นเครื่องยืนยันคำกล่าวนี้ เพียงแต่ CSR ในวันนี้ยังสำหรับ แต่ละองค์กร ยังอาจจะเดินไปในแบบที่ต่างความเชื่อ ต่างมุมมอง ต่างการกระทำ ไม่ว่าจะมองว่า CSR เป็นเพียงการคืนกำไรสู่สังคมในฐานะพลเมืองที่ดี หรือจะมองว่า CSR เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อสังคมและการบริจาค ไปจนกระทั่งมองว่า CSR เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบริหารจัดการองค์กรที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญของโลก

และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลและความจำเป็นใดที่องค์กรมองว่าตนเองต้องมีความรับผิดชอบ หากแต่พัฒนาการของ CSR ไทย ในวันนี้เดินมาไกลกว่าที่หลายคนคาด

ในฐานะที่ติดตามความเคลื่อนไหวทั้งในระดับมหภาคและการได้ลงสัมผัสองค์กรธุรกิจ "ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มองเห็นสถานการณ์ CSR ไทยในวันนี้ว่า "ถ้าพูดถึงเฉพาะสถานการณ์ CSR บ้านเราในวันนี้เป็นขบวน ผมมองว่า พวกหัวขบวนหรือองค์กรที่เป็นผู้นำเรื่องนี้นั้นไปรอดแล้ว ในขณะที่องค์กรที่เป็นกลางขบวนที่ทำ CSR ซึ่งมีการพัฒนาไปในระดับหนึ่งแล้วจะยาวขึ้น ขณะที่ท้ายขบวนคือองค์กรที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับ CSR เลยจะมีสั้นลง"

และไม่ว่าจะอย่างไรก็ดูเหมือนว่าการปฏิเสธ CSR จะยิ่งกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นและยากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ที่กำลังจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2553 ที่จะถึง รวมไปถึงแรงกดดันจากผู้ซื้อและ นักลงทุนในต่างประเทศ

เมื่อองค์กรทบทวนและปรับตัวสู่สากล
การปรับตัวขนานใหญ่ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เป็นผู้นำในเรื่อง CSR องค์กรขนาดกลาง หรือองค์กรขนาดเล็ก ก็จำเป็นจะต้องเร่งปรับตัว และเป็นการปรับตัวไปสู่การเดินตามแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

หันกลับมามองการมีส่วนร่วม (staeholder engagement)
ในขณะที่เชื่อว่าในอนาคต องค์กรทั้งหัวขบวน กลางขบวน และท้ายขบวนจะหันมาปรับตัว โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงานมากยิ่งขึ้น "ที่ผ่านมา เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำหรับหลายองค์กร ที่ส่วนใหญ่ไปมุ่งเน้นทำงานข้างนอก แต่ขาดการมีส่วนร่วมของพนักงาน การขาดการมีส่วนร่วม ทำให้ CSR ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ ไม่ว่าจะมีกลยุทธ์ หรือไม่มีกลยุทธ์ CSR ก็ตาม จะเห็นว่าที่ผ่านมา หลายองค์กรมีนโยบาย มีกลยุทธ์ที่ชัด แต่ไม่มีคนทำ ก็เคลื่อนไม่ได้ และนี่เป็นหนึ่งในทิศทางที่เราจะเห็นมากขึ้นในอนาคต ในการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทาง CSR ขององค์กร" ดร.พิพัฒน์กล่าว

มากกว่ากันการทำงานด้วยการสร้างการมีส่วนร่วม ยังจะทำให้พัฒนาการ CSR ในองค์กรนั้นสามารถก้าวข้ามไปสู่การสร้าง นวัตกรรม CSR ที่สามารถผสานเข้าไปถึงผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยสร้างคุณค่าและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและสังคมมากกว่า

การมาถึงของ Product Responsibility
จากนี้ไป ประเทศไทยก็อาจมีโอกาสเห็น "สินค้าที่เป็นมิตรกับสังคม" (Product Responsibility) เพิ่มมากขึ้น โดยหัวขบวนของเรื่องนี้ ในปัจจุบันคงหลีกไม่พ้นองค์กรขนาดใหญ่ของไทย รวมไปถึงสัญญาณการขับเคลื่อนเรื่องนี้ของบริษัทข้ามชาติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่กำลังจะเกิดและเห็นชัดขึ้นในอนาคตคือการขับเคลื่อน CSR ในระดับเครือข่าย ที่กำลังจะเปลี่ยนภาพ ของการทำ CSR ในแบบที่ต่างคนต่างทำ สู่ความร่วมมือในการ แบ่งปันทรัพยากรที่จะช่วยสร้างพลังร่วมและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ CSR ที่เป็นความร่วมมือในระดับอุตสาหกรรม (sectoral innitiative) ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีความต้องการแนวปฏิบัติที่เจาะจงเป็นรายอุตสาหกรรมมากขึ้น

มากกว่านั้น ในอนาคตยังมีความเป็นไปได้ว่า CSR อาจจะถูกเรียกด้วยคำใหม่ ๆ แต่ไม่ว่าจะเรียกด้วยคำว่าอะไร ผู้เชี่ยวชาญ CSR ทุกคนยืนยันตรงกันว่า ความคิด ความรับผิดชอบต่อสังคม และจิตสำนึกเหล่านี้ไม่มีวันที่จะหายไปไหน !


(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในฉบับแทรก: The Future of CSR)


[Original Link]