Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สเต็ปที่เหนือกว่า คือ "CSR Report"

ชนิตา ภระมรทัต

"แม้ว่าในปี พ.ศ.2554 โครงการ CSR DAY กำลังจะก้าวสู่เฟสที่ 3 และแม้ว่าจะมีบริษัทเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 200 แห่ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 8,000 คน ในระยะเวลา 21 เดือน (มี.ค.2552 - ธ.ค.2553) ซึ่งเป็นที่น่าพอใจของเจ้าของโครงการอันประกอบด้วยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม

หากแต่ยังมีองค์กรจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ .. ทำให้ข้อถกเถียงที่ว่า CSR DAY คืออะไร จึงยังไม่อาจมีบทสรุป

ดังนั้นเนื้อหาและรูปแบบของกิจกรรมของโครงการนี้ในเฟสที่ 3 จึงไม่แตกต่างอะไรจากเฟส 1 - 2 ที่ผ่านมา" ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว

แล้วอะไรคือความแปลกใหม่ เป็นไฮไลต์และสอดคล้องต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของ CSR DAY เฟส 3

"มันคือเรื่องของการเตรียมข้อมูล เพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการจัดทำ "รายงานซีเอสอาร์" (CSR Report) ขององค์กร บนสมมุติฐานที่ว่าคนที่เขียนได้ดีที่สุดก็คือ องค์กรเอง และคนที่มีข้อมูลที่ลึกที่สุดก็คือพนักงานที่เกี่ยวข้อง"

you can't manage what you can't measure ถ้าวัดไม่ได้ก็บริหารจัดการไม่ได้ และ you can't measure what you can't describe ถ้าอธิบายไม่ได้ก็วัดไม่ได้ ดร.พิพัฒน์อธิบายถึงความสำคัญของรายงานซีเอสอาร์

"การที่องค์กรจะออกมาพูดในเรื่องของซีเอสอาร์ได้ ย่อมต้องมีหลักฐาน มีข้อเท็จจริงที่อ้างอิงได้ มากกว่าการที่จะให้คนนอกหรือบริษัทเอเยนซีช่วยคิดหรือช่วยนำเสนอ หรือดำเนินการแทน"

ขณะที่เนื้อหาและกระบวนการของการสอนก็คงยังมุ่งเน้นให้พนักงานแต่ละองค์กรได้เรียนรู้และเข้าใจซีเอสอาร์อย่างถูกต้อง และเปลี่ยนความเชื่อที่ว่าซีเอสอาร์คือ กิจกรรมที่ต้องออกไปทำนอกเวลางาน ทำนอกองค์กร ทำเสาร์อาทิตย์ ให้เป็นซีเอสอาร์นั้นเกิดขึ้นได้โดยง่ายภายในเวลางาน

"ที่ผ่านมาผมพยายามสื่อความง่ายๆ ถึงเรื่องนี้ว่า อย่าพยายามเอาซีเอสอาร์มาเป็นงาน แต่จงทำงานให้มีซีเอสอาร์"

รูปแบบของการเรียนการสอนของ CSR DAY นั้นจะใช้เวลาประมาณครึ่งวัน ช่วงแรกเป็นการบรรยายให้ความรู้เรื่องซีเอสอาร์ที่ถูกต้อง หรือ learning session เป็นการแนะนำวิธีคิดและการปฏิบัติตัวให้พนักงานเพราะเมื่อทำได้ก็จะช่วยทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจและสามารถนำพาองค์กรไปในทิศทางของ

ซีเอสอาร์ และแน่นอนความรู้ในเรื่องของการเก็บข้อมูลเพื่อเขียนรายงานจะบวกเพิ่มเข้าไปในช่วงเวลานี้

จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงของกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพนักงาน หรือ exercise session หมายถึงการเปิดโอกาสให้ทุกๆ คนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และช่วงสุดท้ายก็คือ workshop session

"เซคชั่นสุดท้ายผมว่ามีเสน่ห์มาก เพราะเราจะให้พนักงานจับกลุ่มระดมสมอง เพื่อนำเสนอกิจกรรมซีเอสอาร์ให้กับองค์กร ที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือเราจะคัดเลือกตัวแทนของพวกเขาให้ขึ้นมาเป็น Commentator เหมือนเวที AF เป็นคนคอยลับคม เติมเต็ม ให้มุมมอง เพื่อให้ความคิดแหลมคมยิ่งขึ้น"

ดร.พิพัฒน์มองว่าการมี Commentator มีข้อดีตรงที่ทำให้บรรยากาศเกิดความเป็นกันเอง ไม่เครียดไม่เกร็งเหมือนเวลาให้คนข้างนอกเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือเหมือนในรูปแบบงานที่เป็นทางการ

แต่ตรงกันข้ามถ้าคนเสนอแนะพูดไม่เก่ง ติไม่เป็นก็อาจทำให้อะไรๆ ก็กร่อย ดังนั้นการคัดเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวทางทีมงานขององค์กรนั้นๆ เองและทางทีมงานไทยพัฒน์จะต้องเป็นแมวมองเพื่อค้นหาผู้ที่มี "แวว" ให้ถูกคน

"อะไรดีก็ว่าดี อะไรไม่ดีก็ไม่ดี ตำหนิติเตียนกันได้อย่างไม่มีลูกเกรงใจ ดังนั้นทำให้กิจกรรมที่เกิดจะถูกคัดกรองโดยปริยาย ทำให้การเวิร์คชอปแต่ละครั้งมักจะเกิดกิจกรรมเด่นๆ 3-4 เรื่อง ที่องค์กรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงๆ และที่ได้อีกหนึ่งเด้งก็คือ เมื่อตัวผู้คิดซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติด้วยก็จะขับเคลื่อนอย่างขะมักเขม้นด้วยความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ"

และหากให้มองย้อนกลับไปเริ่มจาก CSR DAY เฟสแรกจวบถึงวันนี้ ดร.พิพัฒน์บอกว่าเขาเห็นถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของพนักงานที่เข้าร่วมโครงการว่าที่แท้ซีเอสอาร์ทำได้ง่ายๆ ในเนื้องาน ไม่ได้เป็นภาระหนักอึ้งที่พวกเขาต้องคอยแบกรับแต่อย่างใด

อีกทั้งผลแสดงของการตอบรับเป็นอย่างดียิ่งทั้งจากบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงหลายๆ กิจกรรมซีเอสอาร์ที่ถูกนำเสนอโดยพนักงานก็ได้รับการพิจารณาจากองค์กรให้นำไปดำเนินการ ซึ่งช่วยบ่งชี้ความสำเร็จของโครงการนี้ได้เป็นอย่างดี


[Original Link]