เทรนด์ CSR ปี 54 แรงได้ใจ!
กรุงเทพธุรกิจ ได้ทำการสำรวจความเห็นผู้นำองค์กรภาคธุรกิจไทยจำนวน 100 คน ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และเป็นประเด็นที่ซีอีโอจะให้ความสนใจสำหรับปี 2554 ซึ่งปรากฏผลเป็น "10 เทรนด์แห่งอนาคต" ที่กูรูนักบริหารทั้งหลายลงความเห็นว่า "ต้องโฟกัส" หากต้องการเป็นเลิศในการแข่งขันตลอดปี 2554
ผมได้ย้อนไปดูการประเมินทิศทางการปรับตัว และแนวโน้มธุรกิจที่เป็นเทรนด์ธุรกิจดาวรุ่งปีเสือ ในปีที่แล้ว และการสำรวจ 10 เทรนด์ปี 52 ที่ธุรกิจไทยหยิบขึ้นมาเป็น "ตัวช่วย" เพื่อให้องค์กรอยู่รอดในห้วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ในปีนั้นต้องประสบกับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ผสมโรงด้วยวิกฤติการเมืองภายในประเทศ
จะเห็นว่า กระแสเรื่อง "กรีนคอนเซปต์" มีมาตั้งแต่ปี 52 ขึ้นมาแรงในปี 53 และในปี 54 นี้ก็ยังอยู่ติดโผ 10 อันดับ แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจไม่สามารถที่จะละทิ้งกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และการดูแลจัดการของเสียที่เกิดจากการประกอบการ
ในปี 53 ที่ผ่านมา ผลพวงจากการระงับโครงการหรือกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง และใกล้เคียงไว้เป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งของศาลปกครองกลางได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่มีลักษณะเข้าข่ายตามมาตรา 67 วรรค 2 และก่อให้เกิดความชะงักงันในการดำเนินงานในหลายโครงการ
แม้ธุรกิจจะอ้างถึงตัวเลขความเสียหายและผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ แต่ปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงซึ่งรวมกันอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดอันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศมีอยู่จริงและส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น ผลกระทบดังกล่าว ได้ต่อเนื่องมาถึงการพิจารณาดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard: SSB) และการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนกระแส "ซีเอสอาร์" ตามการสำรวจในรอบ 3 ปี ได้โผล่มาอยู่ในโผปี 53 และไต่ขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ในปี 54 นี้ รองจากเรื่องนวัตกรรม และการบริหารต้นทุน แสดงให้เห็นว่า เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (ได้คะแนนโหวต 73%) ยังมาแรงแซงเรื่องการตอบสนองผู้บริโภค (70%) และการสร้างแบรนด์ (60%) อย่างน่าสนใจ
หากเจาะลึกเทรนด์ซีเอสอาร์สำหรับปี 54 จากข้อมูลที่ได้ประมวลเบื้องต้น จะมีธีมที่น่าสนใจดังนี้
Supply Class ใน Supply Chain
ความแตกต่างระหว่างชนชั้นของผู้ส่งมอบ (Suppliers) รวมไปถึงผู้จำหน่าย (Dealers) จะเกิดขึ้นจากหลักเกณฑ์ซีเอสอาร์ที่กำหนดให้คู่ค้าต้องแสดงให้เห็นได้ว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับที่ยอมรับได้จึงจะค้าขายด้วยได้ ตัวอย่างรูปธรรมของข้อกำหนดดังกล่าวนี้ อาทิ การใช้กลไกการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ธุรกิจหลายแห่งเรียกว่า Green Procurement) หรือการระบุให้คู่ค้าต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO ที่เกี่ยวข้อง หรือเข้าเกณฑ์ที่ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนด
จากเดิมการจำแนกประเภทของธุรกิจในแบบที่เป็นต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ คงจะต้องเพิ่มการจำแนกเป็นธุรกิจจำพวกพ้นน้ำ (หรือที่ลอยตัวอยู่ใน short-list) จำพวกปริ่มน้ำ (ที่ยังสามารถอยู่ใน list) และจำพวกใต้น้ำ (ที่ตกอยู่ใน waiting list ต้องฝ่าฟันกันต่อ) กลายเป็นชนชั้นอุปทาน (supply class) ในสายอุปทาน (supply chain) ที่แต่เดิมมีอยู่ ก็จะทวีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น
ฐานันดร 3.5: People + Social Media
การเกิดขึ้นของ Social Media จนมีพัฒนาการมาถึงวันนี้ ได้เปิดพรมแดนการติดต่อสื่อสาร การเปิดเผยข้อมูล และการแฉข้อเท็จจริงในทุกวงการ ไม่พ้นวงธุรกิจ และโดยคนธรรมดาๆ คนหนึ่งในสังคม ที่ไม่ต้องผ่านตัวแทนใดๆ
จากฐานันดรที่สาม ซึ่งเป็นประชาชนที่ต้องอาศัยผู้แทน หรือเข้าไม่ถึงสื่อสาธารณะ ก็จะยกระดับสู่การมีช่องทางสื่อสารแบบไม่ต้องอาศัยตัวกลางและเปิดกว้าง ขณะที่ฐานันดรที่สี่ ซึ่งเป็นสื่อเดิมๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อสะท้อนความเห็นที่หลากหลายจากสังคม และยอมรับการขยายตัวของ Social Media มากขึ้น การบรรจบกันของฐานันดรที่สามและฐานันดรที่สี่ จึงกลายมาเป็น "ฐานันดร 3.5" คนพันธุ์ที่มีสื่อสังคมเป็นเครื่องมือขยายพิสัย
ในปี 54 ธุรกิจจะหยิบฉวย Social Media ทั้ง Facebook, Twitter ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากที่องค์กรหลายแห่งต่างมีหน้าเฟซบุ๊ค และบัญชีทวิตเตอร์ในชื่อองค์กรหรือผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อใช้ส่งเสริมการขาย สร้างภาพลักษณ์ และกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า
ขณะที่ Social Media เองก็มีผลต่อเรื่องซีเอสอาร์อย่างมาก มีกรณีการร้องเรียนของผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการที่ไม่ได้คุณภาพ ที่หากองค์กรมิได้ให้ความสำคัญหรือละเลยศักยภาพของ Social Media หลายเหตุการณ์ขยายวงไปสู่การรวมกลุ่มของผู้บริโภคที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน การบอกต่อประสบการณ์ที่สร้างให้เกิดภาพลบต่อองค์กร จนนำไปสู่ความเสียหายที่อาจยากเกินแก้ไข
ธุรกิจ (ฟอก) เขียว: เกาะกระแสสิ่งแวดล้อม
จากการเติบโตของธุรกิจสีเขียว ทั้งทางด้านพลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงสุขภาพ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ได้กลายเป็นตัวแปรที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ที่ต้องมีส่วนประสมของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องหลักของซีเอสอาร์ด้วยเช่นกัน
ในระดับของอุตสาหกรรม สำหรับปี 54 การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ (action) มิใช่ทางเลือก (option) อีกต่อไป
ในระดับธุรกิจ กลยุทธ์ทางธุรกิจที่แสดงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน จะถูกหยิบยกมาเป็นไฮไลท์สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในฝั่งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำก็ตาม
สำหรับธุรกิจที่ต้องการเกาะกระแสสีเขียว แต่ทำไม่ได้จริง หรือมิได้คำนึงถึงการปรับการใช้วัตถุดิบ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและบริการ หรือการดูแลผลิตภัณฑ์และกากของเสียอย่างจริงจัง จะใช้วิธีการฟอกเขียว (Green Washing) เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือสังคมเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรือกระบวนการธุรกิจของตนมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขาย แต่มิได้ทำจริง
ในปีนี้ ผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบและศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และข้อมูลองค์กรอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ อาจมีราคาไม่ถูกไปกว่าผลิตภัณฑ์ในแบบปกติทั่วไป การยอมจ่ายเงินสูงขึ้น แต่กลับได้ผลิตภัณฑ์ย้อม (แมว) สีเขียว จึงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง!
[Original Link]