Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สัมภาษณ์พิเศษ ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ (2)

ประเทศไทยจะเป็นต้นแบบ CSR ในภูมิภาคได้หรือไม่

• แล้วจากนั้นมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
เรื่อง CSR มันพาดพิงหลายคณะ เนื่องจาก CSR ครอบคลุมหลายเรื่องทั้งแรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม สวัสดิการสังคม ฯลฯ ขณะนี้แต่ละคณะก็ไปขับเคลื่อนในส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้อง สำหรับในไทย ตามมติ ครม. ได้ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการส่งเสริมเรื่อง CSR ตาม Blueprint ขณะที่ กระทรวง พ.ม. เองก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นมาในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวง พ.ม. ก็ได้จัดเวิร์คช็อปสัมมนาเรื่อง CSR Roadmap: Thailand to ASEAN เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับจะนำไปใช้ในการจัดประชุมเพื่อจัดทำ ASEAN Action Plan on CSR Promotion ที่ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดในปีนี้

แผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะจัดทำขึ้นนี้ จะไปรองรับการขับเคลื่อนงานตามมาตรการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่ได้ระบุไว้ในแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั่นเอง

• ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจคืออะไร
ผลกระทบมีในหลายมิติ คือ ถ้าดูจากแนวทางการดำเนินงานในมาตรการส่งเสริม CSR ตาม Blueprint หากเป็นไปตามนั้นจริงๆ นโยบายสาธารณะและเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้ส่งเสริมเรื่อง CSR จะถูกกำหนดไปในแนวทางเดียวกันทั้งอาเซียน โดยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากล นั่นหมายความว่า จากเดิมที่ธุรกิจทำ CSR ตามแบบของตัวเองโดยไม่ต้องอ้างอิงใคร ก็อาจจะต้องพิจารณานำแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากลมาใช้ หากต้องการให้ได้รับการยอมรับ

เนื้อหาในนโยบายก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ร่าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มิติด้วยกัน คือ มิติแรก ภาคีใดระหว่างรัฐ-เอกชนเป็นผู้มีบทบาทนำ มิติที่สอง ประเทศใดเป็นเจ้าภาพ

ในมิติแรก ถ้าให้รัฐนำ นโยบายก็อาจจะให้น้ำหนักไปทาง CSR-after-process คือ มองเป็นเรื่องของสวัสดิการสังคม การร่วมพัฒนาชุมชน การบริจาค การอาสาช่วยเหลือสังคม ขณะที่เอกชนจะเข้าใจบริบทของ CSR-in-process มากกว่า คือ มองในเชิงที่สัมพันธ์กับธุรกิจ เรื่องตลาด เรื่องแรงงาน เรื่องการกำกับดูแลองค์กร เป็นต้น

ในมิติที่สอง แน่นอนว่าประเทศที่เป็นเจ้าภาพจะใส่ความคิดที่สอดคล้องกับความต้องการที่เป็นคุณต่อตัวเองได้มากหน่อย ซึ่งขณะนี้ก็เป็นอย่างนั้น อย่างความพยายามของสิงคโปร์ที่ผลักดันผ่านเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมอาเซียนภาคเอกชน โดยได้มีการยกร่าง CSR Model Policy Statement ขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ยกมาจาก UN Global Compact คือเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน เรื่องการต้านทุจริต และเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ขาดประเด็นด้านผู้บริโภค การพัฒนาชุมชน หรือเรื่องที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ คือ นวัตกรรมในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม นั่นก็เป็นเพราะหน่วยงานที่ผลักดันคือ Singapore Compact for CSR (เป็น Focal Point ของ UNGC ในสิงคโปร์)

ดังนั้น ถ้าไทยต้องการจะเล่นบทบาทนำเรื่อง CSR ในอาเซียน เราคงจะต้องวางกลยุทธ์เชิงรุกในการผลักดันความคิดต่อนโยบายที่จะเป็นตัวแบบด้าน CSR ของอาเซียนให้มากกว่านี้


หน้า    ก่อนหน้า    [1]    [2]    [3]    ถัดไป