ตัวอย่าง CSV ในธุรกิจไทย
วันนี้ (25 ก.ย.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกันจัดสัมมนา “Shared Value Opportunities in Thailand” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมการขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ขององค์กรธุรกิจไทย ตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์
เครเมอร์ได้พูดผ่านวีดีทัศน์ที่บันทึกสำหรับงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า ไมเคิล และตัวเขาเอง รู้สึกตื่นเต้นมากที่มีการจัดงานสัมมนานี้ขึ้นในประเทศไทย เมื่อตอนที่ไมเคิลและเขาได้ริเริ่มแนวคิด CSV นี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่นึกว่าจะได้รับการขานรับจากบรรดาบริษัทและประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากมายขนาดนี้ พร้อมกับได้กล่าวแสดงความยินดีกับบริษัทชั้นนำของไทยที่ได้พัฒนาความริเริ่มและกำลังนำกลยุทธ์ด้านคุณค่าร่วมไปผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในความคิดหลักของบริษัท
ในช่วงแรกของงานสัมมนา เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำโดยผู้บริหารระดับสูงจาก บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ. บางจาก ปิโตรเลียม และ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย ได้นำเสนอตัวอย่างของ CSV ที่เกิดขึ้นแล้วในองค์กรทั้งสามแห่ง อาทิ การนำเทคโนโลยีควบคุมการก่อสร้างบ้านแบบ Real Estate Manufacturing (REM) ของพฤกษา เรียลเอสเตท การร่วมดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันกับสหกรณ์การเกษตร ของบางจาก ปิโตรเลียม และบริการสินเชื่อรับประกันการประหยัดพลังงาน ของ ธ.กสิกรไทย
ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้จำแนกการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV ออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ (Product) ขึ้นใหม่ที่เป็นความต้องการของสังคม โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ระดับของการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพโดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และระดับของการพัฒนากลุ่มความร่วมมือ (Cluster) ในท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ
โปรแกรมสินเชื่อรับประกันการประหยัดพลังงานของ ธ.กสิกรไทย เป็นตัวอย่างของ CSV ในระดับ Product ที่ธนาคารให้แก่ผู้ประกอบการในรูปของสินเชื่อลีสซิ่ง / เช่าซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ และ/หรือ เงินกู้ระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการจัดการด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้บริการจากบริษัทจัดการด้านพลังงาน (Energy Service Company - ESCO) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างครบวงจร และมีการรับประกันผลการประหยัดพลังงานที่ได้จากการลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าผลการประหยัดพลังงานที่ได้จากการลงทุนในโครงการจะเป็นแหล่งที่มาหลักของการชำระคืนเงินกู้ของลูกค้า (Self-Financing Project) โดยไม่กระทบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติของกิจการ ผลจากการลดต้นทุนการใช้พลังงาน นอกจากจะเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงานของประเทศโดยรวมแล้ว ยังทำให้กิจการมีสถานะทางการเงินและความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นในระยะยาว
ส่วนการก่อสร้างบ้านแบบ REM ที่พฤกษา เรียลเอสเตทได้คิดค้นและพัฒนาขึ้น เป็นตัวอย่างของ CSV ในระดับ Value Chain ที่ประยุกต์มาจากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม ด้วยการวางแผนการทำงานร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ส่งมอบในห่วงโซ่คุณค่าให้รับผิดชอบเฉพาะในส่วนงานที่ตนเองมีความถนัดเพียงกิจกรรมเดียว จนสำเร็จทั้งเฟส หรือโครงการ ณ จุดก่อสร้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการก่อสร้างสูงสุด มีการควบคุมกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสม มีจังหวะการทำงานที่แน่นอน มีการทำงานอย่างต่อเนื่องในสายการก่อสร้างระหว่างผู้รับเหมาและผู้ส่งมอบแต่ละราย มีระบบการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพระหว่างการก่อสร้างในทุกขั้นตอน ทำให้ย่นระยะเวลาก่อสร้างเฉลี่ยจาก 45 วัน เหลือเพียง 21 วัน จนเป็นผลให้บริษัทสามารถส่งมอบบ้านที่มีคุณภาพในมาตรฐานเดียวกันและในเวลาอันรวดเร็วให้แก่ลูกค้า
สำหรับธุรกิจสถานีบริการน้ำมันที่บางจาก ปิโตรเลียมร่วมดำเนินงานกับสหกรณ์การเกษตร เป็นตัวอย่างของ CSV ในระดับ Cluster ที่เริ่มต้นจากแนวคิดน้ำมันแลกข้าว เพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนปัจจัยในการยังชีพ โดยบริษัทนำข้าวที่ได้รับจากสหกรณ์ไปบริจาคให้เป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนรอบโรงกลั่น ส่วนสหกรณ์นำน้ำมันของบริษัทในราคาถูกไปจำหน่ายให้แก่สมาชิก พัฒนาเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจจนยกระดับสู่ธุรกิจสมัยใหม่ในรูปแบบของการจัดตั้งเป็นสถานีบริการน้ำมันสหกรณ์และสถานีบริการน้ำมันชุมชนโดยลำดับ ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันชุมชน ซึ่งมีคนในชุมชนเป็นสมาชิกและเจ้าของจำนวน 618 สถานี เป็นวิถีการดำเนินธุรกิจที่มีวิธีคิดและวัฒนธรรมที่อุ้มชูกันและกัน ให้โอกาสคนไทยได้เป็นเครือข่ายร่วมธุรกิจ ที่นอกจากสร้างรายได้จากยอดขายน้ำมันแล้ว สมาชิกของชุมชนยังได้รับเงินปันผลปลายปี เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวที่เป็นสมาชิกอีกกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน
ช่วงหลังของงานสัมมนา เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อโอกาสของการสร้างคุณค่าร่วมในประเทศไทย และการแนะนำเครื่องมือ SVOI (Shared Value Opportunity Identification) โดยสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ Shared Value Initiative Affiliate ในประเทศไทย และบริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สำหรับใช้พัฒนาความริเริ่มด้าน CSV ที่เหมาะสมกับองค์กร สอดคล้องกับแง่มุมความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ พร้อมด้วยแนวทางการระบุผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคมที่คาดว่าจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม
หน่วยงานที่ประสงค์จะนำแนวคิด CSV มาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ทางสังคม ด้วยการนำความเชี่ยวชาญของหน่วยงานมาใช้สร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจให้แก่องค์กรและสังคมไปพร้อมกัน สามารถเข้าร่วมขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม ได้ที่ CSVforum.com
[กรุงเทพธุรกิจ]