Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ESG กับการลงทุนที่ยั่งยืน


จากความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการในอดีต ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญของข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน

การพัฒนาข้อมูลความยั่งยืนในรูปของดัชนีหรือการจัดอันดับจากผู้ให้บริการข้อมูลในวงจรข้อมูลความยั่งยืน จึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้ลงทุน โดยมีผู้ให้บริการรายสำคัญ อย่างเช่น เอสแอนด์พี/ดาวโจนส์ (ควบรวมกันในปี 2554) ที่กำเนิดจากฝั่งอเมริกา และฟุตซี่ จากฝั่งยุโรป (อังกฤษ) ซึ่งนำข้อมูลที่ใช้จัดทำดัชนีมาจากบริษัทประเมินหรือบริษัทวิจัยที่ทั้งรวบรวมข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิเองและซื้อจากบริษัทขายข้อมูล อาทิ บลูมเบิร์ก หรือทอมสัน รอยเตอร์ส ซึ่งจะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ เช่น รายงานประจำปี รายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการ หรือจากแบบสอบถาม และข้อมูลจากแหล่งทุติยภูมิ เช่น เสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสีย ภาคประชาสังคม และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสื่อต่างๆ

บริษัทที่ทำการเปิดเผยข้อมูลได้อย่างชัดเจน ครบถ้วน มีความน่าเชื่อถือ และเป็นไปตามบรรทัดฐานสากลตั้งแต่ต้นทาง ส่งทอดให้ผู้รวบรวมข้อมูล (Aggregators) ไปยังบริษัทวิจัยข้อมูล (Researchers) และบริษัทผู้ประเมิน (Raters) สู่การจัดทำข้อมูลดัชนี (Indexes) ส่งตรงไปยังผู้ใช้ข้อมูล (Users) ซึ่งเป็นผู้ลงทุนโดยส่วนใหญ่ และผู้ใช้ข้อมูลปลายทาง จะยังประโยชน์ให้แก่ตัวองค์กรต่อการเป็นที่ยอมรับและการตัดสินใจลงทุน

ในรอบปี 2557 มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้เข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย BANPU CPN IRPC MINT PTT PTTEP PTTGC SCC TOP และ TUF

สำหรับความเคลื่อนไหวของการจัดทำข้อมูลความยั่งยืนของผู้ให้บริการในไทย สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ได้ทำการประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้ประกาศหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดของ 100 บริษัทใน ESG100 ได้ที่ http://esg100.company)

ทั้งนี้ กลุ่มดัชนี DJSI เป็นดัชนีหลักทรัพย์ของบริษัทชั้นนำที่ได้รับการประเมินความยั่งยืน จากการคัดเลือกบริษัทในตลาดทุนทั่วโลกและในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ส่วน ESG100 เป็น Universe ของหลักทรัพย์จดทะเบียน 100 บริษัทที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จากการคัดกรองบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

DJSI มีหน่วยงาน RobecoSAM เป็นผู้ทำหน้าที่ประเมินด้วยการพิจารณาข้อมูลจากแบบสอบถาม (questionnaire) ที่บริษัทตอบกลับเป็นหลัก ส่วน ESG100 มีหน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ เป็นผู้ทำหน้าที่ประเมินด้วยการพิจารณาข้อมูลที่บริษัทเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นหลัก โดยใช้ดัชนีสารบัญ (Content Index) ช่วยชี้ตำแหน่งข้อมูล

เป็นที่คาดหมายว่า ผู้จัดทำข้อมูลและให้บริการดัชนีด้านความยั่งยืน โดยใช้ข้อมูล ESG เป็นฐานในการพิจารณา จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณเม็ดเงินที่ถูกจัดสรรในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ทั่วโลก มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด


ปริมาณการลงทุนที่ยั่งยืน (เฉพาะในสหรัฐอเมริกา)

เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ปริมาณเม็ดเงินที่ลงทุนในหมวดนี้ มีมากกว่า 6.57 ล้านล้านเหรียญ คิดเป็นร้อยละ 18 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมดที่ 36.8 ล้านล้านเหรียญ หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 6 เหรียญ จะมีไม่ต่ำกว่า 1 เหรียญที่ลงทุนโดยใช้ข้อมูล ESG

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ คือ การพัฒนาในฝั่งของผู้ลงทุน ต่อการลงทุนที่ยั่งยืน ครอบคลุมการพิจารณาถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หรือผู้จัดการลงทุนซึ่งทำหน้าที่ดูแลการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน จำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติสำหรับการลงทุนที่ดี ใช้ข้อมูล ESG ที่กิจการเปิดเผย ประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบด้าน


[กรุงเทพธุรกิจ]