Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ภาคธุรกิจกว่า 30 องค์กร ประกาศสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก


กรุงเทพฯ 14 ธันวาคม 2558 – วันนี้ ภาคธุรกิจกว่า 30 องค์กรได้ประกาศเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก ภายใต้หลักการแห่งสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจพร้อมจับมือพัฒนาความยั่งยืนในมิติเด็ก ครอบคลุมทั้งระดับองค์กรและห่วงโซ่ธุรกิจ


หลักการสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ หรือ CRBP เป็นหลักการที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การยูนิเซฟข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) และองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ซึ่งเสนอให้ภาคธุรกิจเคารพและสนับสนุนสิทธิเด็กภายใต้หลัก 10 ประการ ครอบคลุมบทบาทในสถานประกอบการ (Workplace) บทบาทในตลาด (Marketplace) และบทบาทในชุมชนและสิ่งแวดล้อม (Community and Environment) โดยเน้นการผนวกเรื่องสิทธิเด็กเข้าไว้ในนโยบายการดำเนินงานบรรษัทภิบาลและกลยุทธ์องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนงานหลักทางธุรกิจ (Core Business) แทนการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมรายครั้ง หรือโครงการพัฒนาที่แยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจปกติ

บริษัทกว่า 30 แห่ง ได้ร่วมกันให้คำมั่นในการส่งเสริมสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principles หรือ CRBP) ในงานความยั่งยืนในมิติเด็ก: ธุรกิจเพื่อวันหน้า (Children Sustainability Forum: Business for the Future) ซึ่งจัดโดยสถาบันไทยพัฒน์ และองค์การยูนิเซฟ ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คลองเตย


นายอานันท์ ปันยารชุน ทูตสันถวไมตรีองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวกับบริษัทที่ได้ร่วมให้คำมั่นในงานครั้งนี้ โดยเน้นย้ำให้ภาคธุรกิจตระหนักว่า ทุกองค์กรสามารถมีส่วนในการดูแลเด็ก ผ่านทางความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจของตน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความยั่งยืนทั้งกับตัวเด็กและกิจการไปพร้อมกัน

“บริษัทต่าง ๆ ต้องลงทุนกับเด็กในวันนี้ ซึ่งหมายถึงการลงทุนธุรกิจอย่างยั่งยืน ความยั่งยืนหมายถึงการทำธุรกิจโดยไม่ทำลายโอกาสของคนในอนาคต ในสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ แล้วใครกันล่ะคือประชาชนในอนาคต? เด็ก ๆ ในวันนี้นั่นเองครับ นอกจากนั้นพวกเขายังเป็นผู้ที่จะนำความยั่งยืนไปสู่ชนรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย”

นับตั้งแต่เริ่มโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก หรือ Child-Friendly Business โดยสถาบันไทยพัฒน์และองค์การยูนิเซฟ บริษัททั้งกว่า 30 แห่งนี้ ได้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลักการสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ ในระยะแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังเข้าสู่โครงการระยะที่ 2 ในระดับของการนำไปปฏิบัติ ซึ่งจะเปิดรับองค์กรธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมเพิ่มเติมอีก 30 แห่ง โดยจะมีการดำเนินกิจกรรมในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี พ.ศ.2559 (ระยะเวลา 6 เดือน)


ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงการดำเนินโครงการ Child-Friendly Business ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ในงานครั้งนี้ว่า เป็นความร่วมมือครั้งแรกในภูมิภาค หลังจากที่หลักการสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจได้ถูกประกาศใช้ในปี พ.ศ.2555

เป้าประสงค์ของสถาบันไทยพัฒน์และองค์การยูนิเซฟภายใต้ความริเริ่มนี้ เพื่อต้องการยกระดับกิจกรรมความช่วยเหลือที่องค์กรธุรกิจดำเนินการแก่เด็กและเยาวชน จากแนวคิดบนฐานของการทำการกุศล (Charity-based) สู่การทำงานโดยใช้แนวคิดฐานสิทธิ (Rights-based)ในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process)ซึ่งเป็นบทบาทที่สถาบันไทยพัฒน์ได้ให้ความสำคัญและทำงานร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง

“การพัฒนาที่ยั่งยืน ถูกนิยามว่าเป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป ผมมีความหวังว่า คนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งก็หมายถึงผมและตัวท่าน ไม่เพียงแต่จะสามารถขจัดหรือลดผลกระทบทางลบ ไม่ให้ตกทอดแก่คนรุ่นต่อไป แต่ยังมีศักยภาพที่จะส่งมอบคุณค่าหรือผลกระทบทางบวก ให้สืบทอดไปยังคนรุ่นต่อไป ซึ่งก็คือ เด็กหรือลูกหลานของเรานั่นเอง”

ในการดำเนินโครงการ Child-Friendly Business ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ สถาบันไทยพัฒน์ได้นำแพลตฟอร์มในโครงการ CSR Day ซึ่งได้ดำเนินมาเป็นปีที่ 7 และมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 20,000 คน มาใช้สนับสนุนการทำงานร่วมกับองค์การยูนิเซฟภายใต้ความริเริ่มนี้


การอภิปรายในหัวข้อ “การส่งเสริมสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ” นั้น วิทยากรทั้ง 3 ท่าน จากกลุ่มมิตรผล ดิเอราวัณกรุ๊ป และดีแทค ได้ชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างการทำงานในเรื่องเด็กและรูปธรรมของการดำเนินธุรกิจที่ส่งเสริมสิทธิเด็ก รวมทั้งการขยายผลสู่ห่วงโซ่ธุรกิจในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มบริการ และกลุ่มเทคโนโลยี ตามลำดับ

องคกรธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก หรือต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://childfriendly.biz


สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
นัทภัค อนันตกูล สถาบันไทยพัฒน์ 02 930 5221 หรือ natapak@thaipat.org
ณัฐฐา กีนะพันธ์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย 086 616 7555 หรือ nkeenapan@unicef.org



[Original Link]