Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

มาเป็นองค์กรปลอดสินบนกันเถอะ


สวัสดีปีใหม่ ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ปกติในช่วงเริ่มต้นของปี หลายท่านมักจะมีการตั้งปณิธาน (Resolution) ว่าปีใหม่นี้จะทำอะไรบ้าง ที่เป็นเรื่องดีๆ เรื่องใหม่ๆ หรือเรื่องที่ตั้งใจจะทำอย่างแน่วแน่

ผมขออนุญาตใช้เนื้อที่บทความนี้ เสนอเรื่องให้ท่านพิจารณาเป็นปณิธานซักหนึ่งเรื่องนะครับ

ในปี 2559 นี้ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) จะมีการประกาศมาตรฐานว่าด้วยระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน หรือ Anti-bribery management systems ในรหัสมาตรฐาน ISO 37001 ที่สามารถขอรับการรับรองจากหน่วยรับรอง (Certification Body) ได้

เนื่องจากการติดสินบน เป็นหนึ่งในรูปแบบของการทุจริต ที่ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ สร้างทั้งความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ ความเสียหายทางสังคมทั้งในเชิงกายภาพที่กระทบกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ หรืออันตรายจากการบริโภคสินค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

ในเชิงนามธรรม ที่ส่งผลกระทบกับค่านิยมและทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะกับคนรุ่นหลังที่เป็นอนาคตของชาติ ที่จากผลการสำรวจในระยะหลัง เห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติและรับได้หากได้ประโยชน์ด้วย

รวมกระทั่งถึงความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทุจริตในโครงการที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เป็นต้น

ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า ในแต่ละปี มีการจ่ายเงินเพื่อการติดสินบนสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพีโลก และประเมินว่ามีองค์กรธุรกิจกว่าร้อยละ 50 ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินติดสินบน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรและความเป็นธรรมในธุรกิจ สร้างให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในสังคม จนกลายเป็นอุปสรรคบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ในประเทศไทย มีการประเมินกันว่า มูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากการทุจริต อาจมีจำนวนสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี เงินจำนวนนี้ หากสามารถนำกลับมาพัฒนาสังคมส่วนรวม จะทำให้ประชาชน ได้รับประโยชน์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง การจ้างงาน ในด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการมลภาวะและของเสีย ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ จากผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ประจำปี 2557 โดยไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) ต่อประเภทของการทุจริต ระบุว่า ร้อยละ 39 เป็นการรับสินบนและคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าตัวเลขในระดับเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 30 และระดับโลกที่ร้อยละ 27

ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตที่ถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการก็สูงขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงานในภาคเอกชน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ก็ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า

ถึงแม้ไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และมีบทบัญญัติที่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากฎหมายในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การพึ่งกฎหมายและมาตรการลงโทษเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยการป้องกันที่เหมาะสมด้วย

องค์กรจึงควรวางมาตรการป้องกันการติดสินบนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการธุรกิจ เช่นเดียวกับระบบการจัดการคุณภาพ และสิ่งแวดล้อม

มาตรฐาน ISO 37001 เป็นระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน ที่ช่วยให้ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร เกิดความมั่นใจว่า องค์กรมีการดำเนินงานที่ดี และเหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตติดสินบน โดยองค์กรสามารถใช้มาตรฐานนี้เป็นเงื่อนไขในการดำเนินโครงการ หรือทำธุรกิจกับคู่ค้าทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 37001 มีความยืดหยุ่นในการปรับใช้ได้กับองค์กรในทุกขนาด และทุกประเภท เป็นข้อกำหนดที่ให้แนวทางในการจัดทำ ดำเนินการ การรักษาไว้ ตลอดจนการปรับปรุงระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการลดความเสี่ยงด้านการทุจริตติดสินบนจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยความเสี่ยงนั้นอาจเกิดขึ้นจากการกระทำขององค์กรเอง หรือบุคลากรในองค์กรไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

อย่าลืมนะครับ การต่อต้านการทุจริต ไม่ได้เกิดจากการบอกให้ผู้อื่นเลิกทุจริต หรือรอให้ผู้อื่นทำ แต่เกิดจากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง ด้วยองค์กรของเราเอง และด้วยความหวังที่จะสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมของการไม่ทุจริตไปสู่คนทุกคน ไปสู่องค์กรทุกองค์กร

หากองค์กรของท่าน คิดว่าจะมีปณิธานในการต่อต้านการติดสินบนในปีใหม่นี้ ผมขอเชียร์ให้ท่านเตรียมความพร้อมด้วยการนำมาตรฐาน ISO 37001 ไปดำเนินการ ในช่วงระหว่างที่ไอเอสโอกำลังจะประกาศใช้มาตรฐานนี้อย่างเป็นทางการภายในปี 2559 นี้

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมองค์กรของท่านในการเข้าสู่กระบวนการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ด้วยมาตรฐานที่สากลยอมรับ และให้ได้ชื่อว่าเป็น “องค์กรปลอดสินบน” (Bribery-free Organization) ตามมาตรฐานสากลเป็นองค์กรแรกๆ ในประเทศไทย

ขอให้ปณิธานที่ท่านตั้งไว้ เป็นจริงครับ!


[Original Link]