Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

รายงานความยั่งยืนในมิติ SDGs


แม้การประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยองค์การสหประชาชาติ จะเพิ่งล่วงมาได้ยังไม่ถึงสองไตรมาส (193 ประเทศสมาชิกได้ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558) แต่ความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานและการรายงานโดยใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกรอบอ้างอิงของบรรดาองค์กรธุรกิจที่ตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อยู่แล้ว ดูจะมีความคึกคักไม่น้อยเลยทีเดียว


จากการคลุกคลีและติดตามความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจไทยต่อเรื่อง SDGs โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินงานโดยอ้างอิงกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว ต่างให้การตอบรับที่จะนำ SDGs จำนวน 17 ข้อ มาใช้เป็นโจทย์ในการพิจารณาปรับวิถีการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับ SDGs ในข้อที่องค์กรตนเองมีความเกี่ยวข้อง

สำหรับองค์กรที่มีการตอบสนองสูง พบว่า ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอข้อมูลในเล่มรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report ปี 2558 ด้วยการแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของข้อมูลการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่เกี่ยวข้อง ในเล่มรายงานที่กำลังจะเผยแพร่ในไตรมาสแรกของปีนี้เลย

อันที่จริง การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ผ่านช่องทางที่เป็นรายงานแห่งความยั่งยืน โดยเฉพาะองค์กรที่ใช้กรอบการรายงานที่สากลยอมรับ อาทิ Global Reporting Initiative (GRI) จะมีข้อกำหนดในการเปิดเผยเนื้อหา ตั้งแต่นโยบายและการดำเนินงานในภาพรวม ประเด็นที่มีสาระสำคัญต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย แนวการบริหารจัดการกับประเด็นที่เลือกดำเนินการ ไปจนถึงตัวบ่งชี้การดำเนินงานที่ใช้วัดความก้าวหน้าของการจัดการในประเด็นดังกล่าว โดยประเด็นและตัวบ่งชี้การดำเนินงานเหล่านั้น มีส่วนในการตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ระบุใน SDGs ทั้ง 17 ข้อ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และไม่มากก็น้อย เพียงแต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงให้เห็นก่อนหน้าที่ SDGs จะประกาศใช้

ยกตัวอย่างในเรื่องการศึกษา ที่ SDGs ระบุให้หญิงชายได้รับโอกาสและความเสมอภาคในการศึกษาเรียนรู้วิชาชีพและทักษะในอาชีพ เยาวชน คนหนุ่มสาวได้รับการจ้างงาน งานที่มีคุณค่า และทักษะในการประกอบการ เป็นต้น ขณะที่ องค์กรธุรกิจที่มีการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบ GRI ในหมวดที่เกี่ยวกับแรงงาน จะมีการรายงานเรื่องการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่พนักงาน จำนวนชั่วโมงโดยเฉลี่ยที่พนักงานได้รับการฝึกอบรมต่อคนต่อปี จำแนกตามเพศ และประเภทของพนักงาน เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ได้จัดทำเอกสารเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับตัวบ่งชี้การดำเนินงานตามกรอบการรายงานสากล GRI ที่มีชื่อว่า 'Linking the SDGs and GRI' เพื่อช่วยให้องค์กรเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs ในเล่มรายงานแห่งความยั่งยืนผ่านช่องทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่เป็นการสร้างภาระการรายงานเพิ่มจากรายงานแห่งความยั่งยืนฉบับเดิม เผยแพร่ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในรูปแบบที่สถาบันไทยพัฒน์ เรียกว่า Enhanced Sustainability Report

เอกสารฉบับนี้ จะเป็นตัวช่วยชั้นดีสำหรับองค์กรที่มีการดำเนินงานสนองตอบต่อ SDGs และมีการรายงานตามกรอบ GRI อยู่แล้ว ให้สามารถจัดทำข้อมูลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดความยั่งยืนของ GRI เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN ได้อย่างเป็นระบบและอยู่ในบรรทัดฐานที่ยอมรับในวงกว้าง

องค์กรที่สนใจจะปรับรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบ GRI เพื่อสะท้อนความเชื่อมโยงกับ SDGs ให้ทันในรอบการรายงานปี 58 ฉบับที่กำลังจะเผยแพร่ในไตรมาสนี้ หรือเตรียมปรับสำหรับปี 59 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านทาง http://bit.ly/SDGmapping

นอกจากนี้ GRI ยังได้เปิดให้บริการ 'SDG Mapping' สำหรับยืนยันความถูกต้องในการเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามกรอบ GRI เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการสืบค้นและใช้ประโยชน์ข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับ SDGs ในเล่มรายงานที่ได้รับการตรวจสอบจาก GRI ด้วย

ต้นปีนี้ คาดว่าจะได้เห็นรายงานแห่งความยั่งยืนในมิติ SDGs ของไทย จากองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้นำขบวนความยั่งยืน แน่นอนครับ


[Original Link]