Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR-in-process Implementation

การวางระบบงาน

Rational    Assessment    Implementation    Accreditation

เมื่อองค์กรสามารถระบุเรื่องหลักและประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีนัยสำคัญและเกี่ยวเนื่องได้แล้ว องค์กรควรค้นหาวิธีในการผนวกหรือบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าในกระบวนการตัดสินใจและกิจกรรมทั่วทั้งองค์กร

ที่ผ่านมา องค์กรส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับการนำเนื้อหาในส่วนที่เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ ซึ่งได้แก่ 7 หัวข้อหลัก (Core subjects) ไปใช้เป็นแนวทาง โดยใช้วิธีเทียบเคียงกับสิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และพยายามปรับปรุงเพิ่มเติมให้ครบตามประเด็นต่างๆ ที่ระบุไว้ในเรื่องหลักเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริง องค์กรควรพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะเฉพาะขององค์กรกับความรับผิดชอบต่อสังคม และทำความเข้าใจกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามประเด็นดังกล่าว (ไม่ใช่ทุกองค์กร ที่จะต้องดำเนินการในทุกประเด็น)

ดังนั้น การพิจารณานำมาตรฐาน ISO26000 ไปใช้ จำต้องศึกษาในส่วนที่เป็นวิธีดำเนินการ อันได้แก่ แนวทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐาน (ในบทที่ 5) และแนวทางการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร (ในบทที่ 7) เป็นสำคัญ

สำหรับแนวทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐาน 2 ประการ ที่ได้ระบุไว้ในบทที่ 5 ของเล่มมาตรฐาน ประกอบด้วย
หัวข้อ 5.2 - การให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม
หัวข้อ 5.3 - การระบุและสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย

ส่วนแนวทางการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร ที่ได้ระบุไว้ในบทที่ 7 ของเล่มมาตรฐาน ประกอบด้วย
หัวข้อ 7.2 - การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะเฉพาะขององค์กรกับความรับผิดชอบต่อสังคม
หัวข้อ 7.3 - การทำความเข้าใจกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
หัวข้อ 7.4 - ข้อปฏิบัติในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร
หัวข้อ 7.5 - การสื่อสารเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม
หัวข้อ 7.6 - การเพิ่มความน่าเชื่อถือด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
หัวข้อ 7.7 - การทบทวนและปรับปรุงข้อปฏิบัติขององค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
หัวข้อ 7.8 - การเข้าร่วมในความริเริ่มภาคสมัครใจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งนี้ ในขั้นตอนของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมตามหัวข้อ 7.3 ในบทที่ 7 จะรวมถึงการพิจารณาเรื่องหลักและประเด็นต่างๆ ที่ระบุไว้ในบทที่ 6 แล้วด้วย โดยใช้หลักเกณฑ์ของความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ความมีนัยสำคัญ (Significance) และลำดับความสำคัญ (Priorities) เพื่อกำหนดประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรควรดำเนินการ


การกำหนดประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรควรดำเนินการ

เนื่องจากจุดมุ่งหมายของมาตรฐาน มาตรฐาน ISO 26000 คือ การใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมจากเจตนาที่ดี (good intentions) ไปสู่การกระทำที่ดี (good actions) โดยมีเป้าหมายที่การสร้างผลได้สูงสุดจากความทุ่มเทขององค์กรที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน องค์กรจึงควรจะต้องมีการติดตาม ประเมิน และปรับปรุงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง