Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อมที่กิจการมีข้อมูล ตอบโจทย์ SDG


นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์

คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น

ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

ในบทความนี้ จะพูดถึง 11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อม ที่กิจการสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด

ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 11 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

-ปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำและที่ปรับสภาพเพื่อใช้ใหม่
(Water recycling and reuse)
-ประสิทธิภาพการใช้น้ำ
(Water use efficiency)
-ความตึงตัวทางทรัพยากรน้ำ
(Water stress)
-ปริมาณการเกิดของเสียที่ลดได้
(Reduction of waste generation)
-ปริมาณของเสียที่แปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ ที่นำมาใช้ผลิตใหม่ และที่นำกลับมาใช้ซ้ำ
(Waste reused, re-manufactured and recycled)
-ปริมาณของเสียอันตราย
(Hazardous waste)
-ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง
(Greenhouse gas emissions: scope 1)
-ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน
(Greenhouse gas emissions: scope 2)
-ปริมาณสารเคมีและสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน
(Ozone-depleting substances and chemicals)
-อัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทน
(Renewable energy)
-ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
(Energy efficiency)

ทั้ง 11 ตัววัดสิ่งแวดล้อมข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 6.3.1, 6.4.1, 6.4.2) เป้าที่ 7 พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 7.2.1, 7.3.1) เป้าที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 9.4.1) และเป้าที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 12.4.2 และเป้าหมาย SDG ที่ 12.5 ตัวชี้วัด SDG ที่ 12.5.1)

นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดของ 11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org


[Original Link]