Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

มรรค 8 CSR : ทางสายกิจการสู่ความยั่งยืน


ตั้งแต่ที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR หลังจากที่ได้ร่วมก่อตั้งสถาบันไทยพัฒน์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2544 และได้ริเริ่มเครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR Network) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชน ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ได้เห็นพัฒนาการเรื่อง CSR ในแต่ละยุค กับชุดความคิดที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง

ใครที่เคยคลุกคลีกับเรื่อง CSR ในยุคต้นๆ จะเคยได้ยินคำปรารภว่า “CSR มันเกี่ยวอะไรกับธุรกิจ ถ้าอยากช่วยเหลือสังคมมาก ก็ไปทำมูลนิธิไป” ผ่านมาในยุคปัจจุบัน คำปรารภที่ได้ยินมีว่า “ใครไม่ทำเรื่องนี้ อยู่ไม่ได้หรอก ไปดูกิจการในวอลสตรีตสิ เบอร์ต้นๆ ของโลกยังต้องทำเลย”

เรื่องนี้ไม่มีถูกผิด ชุดความคิดหนึ่ง จะเป็นจริงและใช้ได้ในสมัยหนึ่ง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง ก็จะมีชุดความคิดอื่น ที่เป็นจริงและถูกนำมาใช้แทน

การทำ CSR จึงไม่มีชุดความคิดหรือทฤษฎีเดียวที่จะยึดเป็นสรณะได้ ทำให้ในห้วงเวลาที่ผ่านมา เกิดคำใหม่ๆ ที่ถูกนำเสนอ เช่น CSV, ESG, SD, SE ฯลฯ ด้วยว่าจะมาทดแทนเรื่อง CSR บ้าง หรือจะมาต่อเติมเป็นส่วนขยายของเรื่อง CSR บ้าง

ในระหว่างการทำงานตลอด 20 ปี ได้เจอทั้งบริษัทหน้าเก่าที่ต้องการยกระดับงาน CSR และบริษัทหน้าใหม่ที่ต้องการเริ่มงาน CSR อย่างเป็นกิจจะลักษณะ พบว่าบทสนทนาที่มีร่วมกันต่อเรื่อง CSR มักจะวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า CSR คืออะไร ใครเป็นคนทำ ทำอย่างไร ทำไมต้องทำ ต้องทำเมื่อไร ทำแบบไหนถึงจะดี แล้วควรเน้นที่ไหน และทำแล้วผลเป็นของใคร

คำถามที่ว่า CSR อะไร (What) ที่ควรทำ องค์กรจะต้องตระหนักว่าที่มาของกิจกรรม CSR ซึ่งสามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืน จะมีมูลเหตุมาจากการ “ทำเพราะใช่” ไม่ใช่ทำเพราะชอบ คือ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อองค์กร ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในทิศทางเดียวกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย

คำถามที่ว่า ใคร (Who) ควรเป็นคนทำ CSR ก็ต้องระลึกว่าจุดที่หลายองค์กรก้าวข้ามไม่ได้ คือ ขีดความสามารถของส่วนงาน CSR ในการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า CSR เป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ หรือในการปฏิบัติงานประจำวัน ไม่ใช่เป็นงานเพิ่ม หรือภาระนอกเหนือจากงานปกติ

คำถามที่ว่า ควรทำ CSR อย่างไร (How) สิ่งที่องค์กรจะมองข้ามไม่ได้เลย คือ ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) เป็นต้นเรื่องของการหารูปแบบหรือวิธีดำเนินงาน CSR ที่ตรงกับความสนใจหรือสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มนั้นๆ และชื่อของการดำเนินงาน CSR ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย จะใช้คำเรียกที่แตกต่างกันออกไป

คำถามที่ว่า ทำไม (Why) ต้องทำ CSR คำตอบมีมากกว่าคำตอบเดียว ธุรกิจที่มองเรื่องความยั่งยืนของกิจการเป็นที่ตั้ง จะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ ประชาสัมพันธ์ ขณะที่ ธุรกิจซึ่งมุ่งไปที่ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม จะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างคุณค่าร่วมระหว่างกิจการกับสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

คำถามที่ว่า ต้องทำ CSR เมื่อไร (When) ข้อนี้หลายองค์กรทราบอยู่แล้วว่า CSR ในเวลางาน และ CSR นอกเวลางานของบุคคล รวมทั้ง Responsive CSR และ Strategic CSR ขององค์กร ต่างมีความสำคัญตามบริบทที่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่สามารถทำเรื่องหนึ่ง เพื่อทดแทนอีกเรื่องหนึ่งได้ เนื่องเพราะมีการให้ผลได้ที่ต่างกัน

คำถามที่ว่า CSR แบบไหน (Which) ถึงจะดี หลักการในเรื่องนี้ถูกระบุไว้ในมาตรฐานและแนวทาง CSR ที่ภาคเอกชนนิยมใช้อ้างอิง ซึ่งแนะนำให้องค์กรมีการดำเนินการในประเด็นความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นในประเด็นที่องค์กรมีความเกี่ยวข้องหรือมีการสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญ

คำถามที่ว่า เรื่อง CSR ควรเน้นที่ไหน (Where) มีเกณฑ์พิจารณาอยู่ตรงที่ความสามารถในการระบุพิกัดหรือบริเวณที่ผลกระทบเกิดขึ้น เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ อันเป็นกลไกที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่อง CSR สัมฤทธิ์ผล ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดทางทรัพยากร เพราะองค์กรไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่สามารถทำให้ถูกเรื่องได้

คำถามที่ว่า ทำ CSR แล้วผลเป็นของใคร (Whose) ข้อนี้มีคำตอบสองฝั่ง คือ ผลได้ตกเป็นของส่วนรวม (คิดแบบ Outwards) กับผลได้ตกเป็นขององค์กร (คิดแบบ Inwards) ซึ่งปัจจุบัน มีหลักการที่เรียกว่า “ทวิสารัตถภาพ” หรือ Double Materiality Principle รองรับทั้งสองฝั่ง คือ พิจารณาที่ผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (People และ Planet) ควบคู่กับการคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท (Profit)

สำหรับผู้สนใจที่อยากจะได้คำตอบของ 8 คำถามข้างต้น ในเวอร์ชันยาวๆ ผมได้ประมวลไว้เป็นหนังสือ ชื่อ มรรค 8 CSR: ทางสายกิจการ โดยเป็นคำตอบจากประสบการณ์ในทัศนะส่วนตน ที่ได้พบเห็นปรากฏการณ์ในบริษัทหลายๆ แห่งในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่สามารถนำไปอ้างอิงตามหลักวิชา แต่น่าจะพอเป็นประโยชน์กับองค์กรที่มีข้อคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นเช่นกัน

และถือโอกาสใช้เป็นหนังสือฉลองวาระที่สถาบันไทยพัฒน์มีอายุครบ 20 ปี เป็นหลักไมล์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาสู่ความยั่งยืนร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่สถาบันได้ก่อตั้งขึ้น

องค์กรและผู้ที่สนใจ สามารถขอรับเล่มหนังสือ หรือดาวน์โหลดเป็นไฟล์หนังสือ ได้ที่เว็บไซต์ thaipat.org โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


[Original Link]