Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

The State of Corporate Sustainability in 2022

รายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ    


ตามที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้มีการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ เพื่อนำเสนอทิศทางและกระแสนิยมของการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรที่สำคัญ รวมถึงการวิเคราะห์สถานภาพการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ โดยมีการจัดทำขึ้นเป็นเอกสารฉบับแรก ในปี พ.ศ.2561 และเผยแพร่เป็นรายงานชื่อว่า “The State of Corporate Sustainability” ประจำทุกสองปี

รายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2565 เป็นการประมวลความเคลื่อนไหวในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่น่าสนใจทั้งในระดับสากลและในไทย รวมทั้งความท้าทายของภาคธุรกิจต่อการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านมุมมองของการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกิจการ ซึ่งรวบรวมจากบริษัทจดทะเบียน 763 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 91 ราย รวมทั้งสิ้น 854 ราย

เนื้อหาในรายงาน แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่หนึ่ง: ESG - บทพิสูจน์ “การพัฒนาสู่ความยั่งยืน”

เป็นการให้ภาพรวมการรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting) อัตราการใช้มาตรฐานการรายงานความยั่งยืน GRI (Global Reporting Initiative) และขนาดของตลาดข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ทั่วโลก รวมถึงผลสำรวจที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ESG กับ Bottom Line ทางธุรกิจ


ส่วนที่สอง: การวิเคราะห์ประเด็นความยั่งยืนในมุมมอง GRI

เป็นการวิเคราะห์สถานภาพการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ตามประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยมากสุดในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งอ้างอิงมาตรฐานการรายงานสากลของ GRI (Global Reporting Standards)


ส่วนที่สาม: การวิเคราะห์ประเด็น ESG ในมุมมอง WFE

เป็นการแสดงสถานะการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมข้อแนะนำที่กิจการในแต่ละอุตสาหกรรมควรพิจารณานำไปดำเนินการ ตามประเด็นด้าน ESG ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE)


ส่วนที่สี่: การวิเคราะห์ประเด็น SDG ในมุมมอง GCI

เป็นการแสดงภาพรวมการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกิจการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านกระบวนการทางธุรกิจ หรือ SDG-in-process ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR)


ส่วนที่ห้า: การเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป็นการนำเสนอประเด็นด้านความยั่งยืนของกิจการที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เจตนารมณ์ในการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ตลอดจนความท้าทายในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร



สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดเวทีเผยแพร่ผลสำรวจในงาน "The State of Corporate Sustainability in 2022" เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565
กำหนดการ
• เอกสารนำเสนอ ช่วง "ผลการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนฯ ปี 2565"
• เอกสารนำเสนอ ช่วง "Thailand ESG Meter: มาตรวัดความยั่งยืนภาคองค์กร"


องค์กรที่สนใจศึกษาข้อมูลในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2565 สามารถดาวน์โหลดเอกสาร: “The State of Corporate Sustainability in 2022” (ความหนา 122 หน้า) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เปิดผลสำรวจ ESG ธุรกิจไทย ปี 65
ไทยติดกลุ่มประเทศที่มีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนสูงสุด

 


ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สถาบันไทยพัฒน์
คุณจินตนา จันสน โทรศัพท์: 02-930-5227