Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

การขับเคลื่อนซีเอสอาร์

Repositioning CSR  •  Reinforcing CSR  •  Reporting CSR



ทำไมถึงต้องทบทวนการดำเนินงาน CSR? เกิดอะไรขึ้นกับ CSR ที่มีอยู่? แล้วจะต้องปรับจุดยืนในเรื่อง CSR ใหม่อย่างไร? คำถามเหล่านี้อาจกำลังเกิดขึ้นในใจของผู้บริหารองค์กรหลายแห่งที่ต้องรับผิดชอบนำองค์กรฝ่าคลื่นแห่งความอึมครึมและความขัดแย้งที่กิจการกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 50 ในมาตรา 67 ได้ส่งผลต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยต้องมีกระบวนการในการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งองค์การอิสระในการให้ความเห็นประกอบก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ได้

การระงับโครงการหรือกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง และใกล้เคียงไว้เป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่มีลักษณะเข้าข่ายตามมาตรา 67 วรรค 2 และก่อให้เกิดความชะงักงันในการดำเนินโครงการ เนื่องจากต้องรอให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตราดังกล่าวให้ครบถ้วนก่อน

โดยศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่มีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 แล้ว ได้มีการออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว โดยยังไม่ได้มีการกำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมใดเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ รวมทั้ง ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ

แม้ธุรกิจจะอ้างถึงตัวเลขความเสียหายและผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ แต่ปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงซึ่งรวมกันอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดอันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศมีอยู่จริงและส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและเป็นการยุติธรรมและสมควรตามหลักนิติธรรม หลักการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และหลักการบริหารงานของรัฐอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ให้ระงับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว

นอกจากผลกระทบกรณีของมาบตาพุด วิกฤตเศรษฐกิจในรอบที่ผ่านมา ยังได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลจาก PSB Survey on Sustainability in the 2009 Recession ระบุว่า นอกจากปัจจัยในเรื่องราคา คุณภาพ ความสะดวกสบาย และคุณธรรมในการประกอบการแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือกระแสสีเขียว (Green) ช่วงหลังวิกฤต เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 15 เป็นเหตุให้ธุรกิจแทบทุกสาขามีการปรับสายผลิตภัณฑ์และบริการรวมทั้งกระบวนการผลิตขององค์กรเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมในฝั่งอุปสงค์ที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นด้วย

ความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ CSR อีกเรื่องหนึ่ง เกิดจากข้อตกลงการเปิดเสรีสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้านำเข้า 8,300 รายการ มีอัตราภาษีลดเหลือ 0% สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ รวมทั้งผลของความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) และสาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) นับจากเดือนมกราคมนี้ ตลอดจนความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ภาคธุรกิจจึงจำต้องศึกษาข้อมูลและปรับตัวรองรับทั้งโอกาสและผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี เพราะจากนี้ไป มาตรการภาษีนำเข้า มาตรการโควตาภาษี และอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ที่ขัดต่อความตกลงดังกล่าวก็จะต้องถูกยกเลิก ทำให้ประเทศต่างๆ จะหันมาใช้มาตรการชนิดอื่นๆ ที่ได้รับยกเว้นเพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีการค้า อาทิ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคทางการค้า (TBT) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้มีความเกี่ยวเนื่องกับแนวปฏิบัติทาง CSR แทบทั้งสิ้น

ด้วยเหตุผลสามประการหลักที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitution) เรื่องกระแสสีเขียวอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate) และเรื่องความตกลงการเปิดเสรีทางการค้า (Commerce) องค์กรธุรกิจจึงต้องพิจารณาทบทวนแนวการดำเนินงาน CSR ขององค์กรเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับแนวโน้มและความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ การปรับตำแหน่ง หรือ Repositioning การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ ทั้งในเรื่องขอบเขต (Scope) แนวนโยบาย (Platform) โครงสร้าง (Structure) กลยุทธ์ (Strategy) การดำเนินงาน (Performance) ตัวชี้วัด (Measure) และการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) ไปพร้อมๆ กัน

1. SCOPE: From “Shareholders” to “Stakeholders”
2. PLATFORM: From “Standalone” to “Standard”
3. STRUCTURE: From “Department” to “Alignment”
4. STRATEGY: From “Responsive” to “Creative”
5. PERFORMANCE: From “Lip Service” to “Live Service”
6. MEASURE: From “Output” to “Outcome”
7. DISCLOSURE: From “Public Relation” to “Public Reporting”


 ฟังบทสัมภาษณ์ 7 แนวทางการปรับจุดยืน CSR ขององค์กร