Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Social Enterprise vs. Social Business


คำว่า ‘วิสาหกิจ’ (enterprise) ตามพจนานุกรม หมายถึง การประกอบการที่ยากสลับซับซ้อนหรือเสี่ยงต่อการขาดทุนล้มละลาย ส่วนคำว่า ‘ธุรกิจ’ (business) หมายถึง การประกอบกิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอย่างอื่นเป็นการค้า หรือหมายถึง การงานประจำเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่นที่สำคัญและที่ไม่ใช่ราชการ

หากดูตามความหมายนี้ คำว่าวิสาหกิจมีความหมายกว้างกว่าธุรกิจ เพราะหมายรวมถึงการประกอบการที่มิใช่เพื่อการค้า (ที่หมายถึง การซื้อขายสินค้าหรือบริการ) หรือได้รวมถึงเรื่องที่เป็นราชการเข้าไว้ด้วย เมื่อมีการเติมคำขยายว่าเป็น วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) และ ธุรกิจเพื่อสังคม (social business) จึงทำให้การประกอบการเหล่านี้ ล้วนต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะสนองตอบต่อเป้าหมายทางสังคม (และสิ่งแวดล้อม) เป็นหลัก

ด้วยการที่ธุรกิจซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่แสวงหากำไร แม้จะมีวัตถุประสงค์ทางสังคมมากำกับ ธุรกิจเพื่อสังคมก็มิได้ปฏิเสธการแสวงหากำไร (และยิ่งต้องไม่ทำให้ขาดทุนด้วย) เพียงแต่กำไรที่ได้จากการทำธุรกิจนั้น จะต้องถูกนำกลับมาทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ไม่สามารถนำมาปันกลับคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นการส่วนตัวได้ (ยกเว้นก็แต่เงินลงทุนที่มีสิทธิ์ได้รับกลับคืน)

มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศ ได้ขยายความว่า ธุรกิจเพื่อสังคมตามนิยามของเขามี 2 ประเภทๆ แรก ยูนูสเรียกว่า Type I social business คือ non-loss, non-dividend company ที่ทำงานอุทิศให้กับการแก้ไขปัญหาทางสังคมและถือหุ้น โดยนักลงทุนที่/พร้อมจัดสรรกำไรจากการดำเนินงานทั้งหมดในการขยายและปรับปรุงธุรกิจเพื่อสังคมของตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ประเภทที่สองเรียกว่า Type II social business คือ profit-making company ที่มิได้ถือหุ้นโดยนักลงทุนหรือบุคคลทั่วไป แต่เป็นคนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสที่เข้าเป็นเจ้าของ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และได้รับโอกาสให้นำกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ไปบรรเทาปัญหาความยากจนนั้น ได้ตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจเพื่อสังคมนั้นๆ

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่องค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร (non-profit organization) เช่น มูลนิธิที่มิได้มีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเป็นหลัก แต่รายรับส่วนใหญ่มาจากการบริจาค เพื่อนำไปใช้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ และที่สำคัญไม่มีผู้เป็น ‘เจ้าของ’ เหมือนกับธุรกิจเพื่อสังคม

ด้วยเหตุที่ กฎหมายว่าด้วยมูลนิธิในหลายประเทศส่วนใหญ่ ถือว่าทรัพย์สินของมูลนิธิที่ได้รับจากการบริจาคหรือที่เป็นดอกผลเพิ่มเติมขึ้นภายหลังนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ (ในฐานะผู้ว่าการสังคม) แต่เนื่องจากรัฐไม่สามารถดูแลหรือจัดการได้อย่างทั่วถึง จึงมอบหมาย (ตามบทบัญญัติของกฎหมาย) ให้คณะกรรมการชุดหนึ่ง (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ คณะผู้ก่อการมูลนิธินั้น) ทำหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมแทนเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการมูลนิธิจึงไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็น ‘เจ้าของ’ ทรัพย์สินที่เป็นของส่วนรวมนั้นแต่ต้น (รัฐจึงมีสิทธิ์เข้ามาจัดการได้ทุกเมื่อ โอ้จริงหรือนี่)

ครั้นเมื่อเทียบระหว่างวิสาหกิจเพื่อสังคมกับธุรกิจเพื่อสังคม ในแง่ของขอบเขต วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นกินความหมายกว้างกว่า เพราะรูปแบบขององค์กรเป็นได้ทั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (non-profits) และที่แสวงหากำไร (for-profits) ซึ่งหากมีกำไร ก็จะนำกำไรส่วนใหญ่ไปขยายหรือลงทุนในกิจการหรือโครงการเพื่อสังคมต่อ และกำไรบางส่วนแบ่งปันกลับคืนให้เจ้าของได้

ขณะที่ธุรกิจเพื่อสังคม (ตามนิยามของยูนูส) รูปแบบขององค์กรนั้นเป็นแบบที่แสวงหากำไรอย่างเดียว และกำไรที่ได้ต้องใช้หมุนเวียนในธุรกิจเพื่อสังคมทั้งหมด ไม่ปันกลับไปให้ผู้ถือหุ้น (ในกรณีของ Type I) ดังนั้น ธุรกิจเพื่อสังคม จึงเป็น subset ของวิสาหกิจเพื่อสังคม

ไอเดียของยูนูสในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ดูจะแข็งและเข้มงวดมากกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคม ในแง่ของการแบ่งปันผลกำไรที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ปันผลส่วนตัว” กับ “ประโยชน์ส่วนรวม” เพราะมีฐานคิดว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน และประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง

บรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs น่าจะชอบใจหรือถูกจริตกับรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมของยูนูส ในประเด็นที่ไม่ต้องการนำเรื่องธุรกิจมาหากินหรือค้ากำไรกับความยากจนของชาวบ้าน ขณะที่องค์กรธุรกิจทั่วไปน่าจะขานรับกับแนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมมากกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นในแง่ของการปันผลกำไรที่ถูกกับจริตของนักธุรกิจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ยังมีรูปแบบใหม่ๆ ของวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ และดูจะเป็นเรื่องที่น่าศึกษาไม่น้อย อย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ Community Interest Company (CIC) ที่มีกฎหมายรองรับมาตั้งแต่ปี 2005 หรือในสหรัฐอเมริกา Low-profit Limited Liability Company (L3C) ที่รับรองในปี 2008 และเพิ่งเมื่อเดือนเมษายน ปี 2010 รัฐแมรี่แลนด์เป็นรัฐแรกที่ได้ให้การรับรอง Benefit Corporation (B-Corp) เป็นรูปแบบล่าสุด ตามมาด้วยอีกกว่า 10 รัฐที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การรับรอง เช่น แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน โคโลราโด ซึ่งคงจะได้หาโอกาสมาขยายความในรายละเอียดกันต่อไป

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
อย่าสับสน CSR กับ Social Enterprise
รู้จัก Social Business
วิสาหกิจเพื่อสังคม VS. ธุรกิจเพื่อสังคม
Benefit Corp องค์กรธุรกิจยุคใหม่
CSV กับ SE เหมือนหรือต่างกัน?
ทำ SE ไม่ต้องรอกฎหมาย


[Original Link]