Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

รู้จัก Social Business


หนึ่งในแนวทางที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จำนวน 17 ข้อ ตามที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป็นเป้าหมายโลก นับจากปี 2559 เป็นต้นไป ทอดยาวไปอีก 15 ปีข้างหน้า คือ การผลักดันให้เกิด ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ หรือ Social Business สู่ขีดระดับที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ระบุว่าวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2030 จะสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น ต้องนำธุรกิจเพื่อสังคมมาตอบโจทย์ 3 ศูนย์ โดยศูนย์แรก คือ สิ้นความยากจน (Zero Poverty) ศูนย์ที่สอง คือ ไร้การว่างงาน (Zero Unemployment) และศูนย์ที่สาม คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ (Zero Net Carbon Emissions)

ถ้าหากเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม สามารถใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ก็น่าสนใจไม่น้อย ที่จะมาทำความรู้จักกับ ธุรกิจเพื่อสังคม ตามแนวคิดของมูฮัมหมัด ยูนุส เพื่อนำมาใช้เป็นกลไกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนกันนะครับ

ในหนังสือชื่อ ‘Building Social Business’ ที่มูฮัมหมัด ยูนุส เขียนไว้เมื่อปี ค.ศ.2010 บอกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นธุรกิจพรรค์ใหม่ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และไม่ใช่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรซึ่งอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคหรือเป็นองค์กรการกุศล อีกทั้งยังไม่เหมือนกับกิจการประเภท ‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’ ที่สามารถแสวงหากำไรและยอมให้มีการปันผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้น

ธุรกิจเพื่อสังคม อยู่นอกอาณาเขตของการมุ่งแสวงหากำไร เป้าหมายของธุรกิจพรรค์นี้ คือการแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางธุรกิจ ที่ครอบคลุมถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการ ดังตัวอย่างของ กรามีน-ดาน่อน ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ ด้วยการผลิตโยเกิร์ตที่เติมธาตุอาหารเสริมจำหน่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย หรือ กรามีน-วีโอเลีย ที่ช่วยแก้ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในแหล่งที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่ม ด้วยการจำหน่ายน้ำดื่มบริสุทธิ์ในราคาถูกตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก หรือ บีเอเอสเอฟ-กรามีน ที่ต้องการควบคุมโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ ด้วยการผลิตและจำหน่ายมุ้งเคลือบสารกันยุงในแหล่งที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

ธุรกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของมูฮัมหมัด ยูนุส แบ่งออกเป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรก เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) โดยมุ่งที่จะแก้ปัญหาสังคมเป็นสำคัญ มีการถือหุ้นโดยผู้ลงทุนหรือบุคคลทั่วไป และนำกำไรทั้งหมดที่ได้ กลับมาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อ ดังในตัวอย่างข้างต้น ซึ่งยูนุสเรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 หรือ Type I social business

เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 นี้ สามารถได้รับเงินลงทุนคืน เฉพาะเงินต้นเท่านั้น ไม่มีการให้ดอกเบี้ย หรือชดเชยค่าเงินเฟ้อใดๆ คือ non-loss และจะไม่ได้รับปันผลใดๆ จากกำไรที่เกิดขึ้นจากธุรกิจ โดยกำไรทั้งหมดจะคงไว้ในกิจการเพื่อใช้แก้ปัญหาสังคม คือ non-dividend

ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 หรือ Type II social business เป็นธุรกิจที่แสวงหากำไรและสามารถปันผลได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นของกิจการจะต้องเป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาส เพราะการปันผลกำไรนั้น ถือเป็นการขจัดความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม สมตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจเพื่อสังคมในตัวเอง

ตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 ได้แก่ ธนาคารกรามีน ซึ่งถือหุ้นโดยคนยากจน ที่เป็นทั้งผู้ฝากเงินและลูกค้าสินเชื่อ โดยนำสินเชื่อไปใช้ในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากไร้ จนกลายมาเป็นการบุกเบิกแนวคิดสินเชื่อรายย่อย หรือ Microfinance ที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่กลุ่มคนฐานรากในหลายประเทศทั่วโลก

รูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ยังถูกนำไปเทียบกับรูปแบบของสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมีการปันผลกำไรที่ได้ให้แก่สมาชิกตามส่วน ในกรณีนี้ ยูนุสได้ขยายความว่า สหกรณ์ จัดอยู่ในข่ายที่เรียกว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้ ก็ต่อเมื่อ สมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์เป็นคนยากจนเท่านั้น เนื่องจากการปันผลกำไรจะต้องเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ให้หลุดพ้นจากความยากจน ตามนิยามของ Type II social business

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่สหกรณ์ถูกจัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลทั่วไปหรือองค์กรที่รวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มสมาชิก แม้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นจะจัดอยู่ในข่ายธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 แต่สหกรณ์มีการดำเนินงานเพื่อแสวงหากำไรและปันผลกำไรกันระหว่างสมาชิกที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมิใช่เป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสที่แท้จริง สหกรณ์ประเภทดังกล่าวนี้ ไม่จัดว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

ด้วยหลักเกณฑ์เดียวกันนี้ วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลทั้งหมดหรือบางส่วนที่มิใช่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาส และมีการปันผลกำไรที่เกิดขึ้นจากกิจการแก่บุคคลหรือนิติบุคคลนั้น วิสาหกิจเพื่อสังคม ในกรณีนี้ ไม่จัดว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน

นั่นหมายความว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จะจัดว่าเป็น Social Business มี 2 กรณี คือ กรณีแรก ไม่มีการปันผลกำไรระหว่างผู้ถือหุ้น (เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป) กำไรทั้งหมดต้องเก็บไว้กับตัวกิจการเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาสังคม (เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1) หรือกรณีที่สอง มีการปันผลกำไรระหว่างผู้ถือหุ้น (เป็นคนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น) ถือเป็นการแก้ไขปัญหาสังคมด้วยตัวกิจการเอง (เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2)

รู้จัก Social Business กันอย่างนี้แล้ว ใครอยากทำธุรกิจเพื่อสังคม ยกมือขึ้น!

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
อย่าสับสน CSR กับ Social Enterprise
รู้จัก Social Business
วิสาหกิจเพื่อสังคม VS. ธุรกิจเพื่อสังคม
Benefit Corp องค์กรธุรกิจยุคใหม่
CSV กับ SE เหมือนหรือต่างกัน?
ทำ SE ไม่ต้องรอกฎหมาย


[Original Link]